Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

รายงานตัว ก่อน AEC

รุ่งทิพย์ เพ็ญพันธุ์

องค์กรธุรกิจหลายแห่งในปัจจุบันจะเริ่มคุ้นกับ "การจัดทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม" หรือ "การจัดทำรายงานความยั่งยืน" เพิ่มมากขึ้น จากการที่สังคมหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของกิจการต้องการให้องค์กรเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงาน (performance disclosure) ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากด้านเศรษฐกิจดังที่เป็นอยู่


ในประเทศไทยการเรียกร้องดังกล่าวอาจจะยังไม่เห็นเด่นชัดนัก เมื่อเทียบกับประเทศในแถบยุโรปหรืออเมริกา ที่การรวมกลุ่มของผู้บริโภค แรงงาน หรือนักเคลื่อนไหวทางสังคมมีความเข้มแข็ง

อย่างไรก็ดี ประเด็นของการรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม หรือรายงานความยั่งยืน หรือขอเรียกสั้น ๆ ว่า "รายงาน CSR" จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายขององค์กรในการสื่อสารเพื่อลดข้อกังขา หรือกระทั่งลดข้อโต้แย้งที่อาจเกิดขึ้นกับองค์กรในอนาคต

องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่โดยเฉพาะเอสเอ็มอีมองว่า การจัดทำรายงานฉบับนี้เป็นงานส่วนที่เพิ่มขึ้นหรือยังไม่มีความจำเป็น และมักจะมีคำถามในทำนองเดียวกันว่า "ทำให้ใครอ่าน" หรือ "ทำแล้วได้อะไร" ขณะที่ก็มีองค์กรอีกจำนวนไม่น้อยที่แสดงความสนใจในการจัดทำรายงานฉบับดังกล่าว

ด้วยสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนไป การเปิดเผยข้อมูลผ่านทางการจัดทำรายงาน CSR นี้ มิได้มาจากแรงกดดันของภาคประชาสังคมโดยลำพังเสียแล้ว ในหลายกรณีเป็นการเรียกร้องจากผู้ถือหุ้นของกิจการเอง หรือมาจากการร้องขอของคู่ค้ารายใหญ่ในห่วงโซ่ธุรกิจ โดยเฉพาะคู่ค้าในต่างประเทศ ที่จำเป็นต้องมีการรายงานการประกอบการที่ส่งผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดสายอุปทาน ซึ่งหากองค์กรของท่านอยู่ในสายอุปทานดังกล่าว (ไม่เว้นแม้แต่เอสเอ็มอี) ก็จำต้องมีการจัดส่งข้อมูลด้าน CSR นี้ให้แก่คู่ค้ารายใหญ่ของท่าน เพื่อผนวกลงในรายงานของคู่ค้ารายดังกล่าว แม้จะยังไม่จำเป็นต้องจัดทำเล่มรายงาน CSR ของตนเองต่างหากก็ตาม

ในปี 2558 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะเกิดขึ้น ทุกประเทศในอาเซียนจะได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจทั้งในแง่ของการเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ แรงงานฝีมือ เงินทุน และการลงทุนอย่างเสรีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงการลงทุนจากประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ซึ่งประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมและบริบทด้านความยั่งยืนของกิจการเป็นที่จับตาของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศเหล่านี้ทั้งสิ้น

การวางแนวทางรับมือกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้ไว้ล่วงหน้า ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการเผชิญกับมาตรการจำยอมโดยมิได้เตรียมองค์กรให้พร้อม และเสี่ยงต่อการสูญเสียขีดความสามารถทางการแข่งขัน

การดำเนินธุรกิจภายใต้การเปิดตลาด AEC นั้นเกี่ยวพันกับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในหลายระดับ ทั้งในด้านสินค้าที่องค์กรต้องมีความรับผิดชอบในตัวผลิตภัณฑ์ (product responsibility) ด้านการบริการที่ไทยเน้นเรื่องการท่องเที่ยวเป็นจุดเด่น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือยั่งยืนจะยิ่งมีบทบาทมากขึ้น ด้านแรงงานที่ต้องคำนึงถึงการปฏิบัติด้านแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล กฎหมาย ข้อกำหนด และหลักปฏิบัติของแต่ละประเทศสมาชิก และด้านการลงทุนที่ต้องเผชิญกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในมิติทางสังคมที่มีความหลากหลายมากขึ้น

การจัดทำรายงาน CSR ที่ดี เปรียบเสมือนเครื่องมือที่ช่วยองค์กรเตรียมความพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลง เป็นเครื่องมือที่ใช้เป็นสื่อกลางในการสื่อสารเพื่อตอบข้อสงสัยต่าง ๆ เป็นการทวนสอบการดำเนินงานขององค์กรที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเป็น "เส้นทาง" นำไปสู่ความยั่งยืน

ปัจจัยหนึ่งที่จะเพิ่มความน่าเชื่อถือและการยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคือ การจัดทำรายงานที่อ้างอิงกับมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล อาทิ กรอบการรายงานของ Global Reporting Initiative (GRI) ซึ่งได้ให้แนวทางในการคัดกรองสารัตถภาพของเนื้อหาที่จะรายงาน ความครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญทุกฝ่าย ความสมบูรณ์ครบถ้วนของข้อมูล คุณภาพของรายงาน และที่สำคัญคือบริบทด้านความยั่งยืน ที่คำนึงถึงมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน ซึ่งองค์กรสามารถทวนสอบได้จากการจัดทำรายงานตามกระบวนการ 5 ระยะของ GRI (Prepare-Connect-Define-Monitor-Report)

สาเหตุหนึ่งที่องค์กรไม่เห็นผลสำเร็จของการจัดทำรายงาน CSR คือ การมุ่งเน้นเพื่อให้ได้รูปเล่มรายงานเป็นผลผลิตสุดท้าย และกลายเป็นว่า "เล่มรายงาน" คือภาระงานและงบประมาณที่เพิ่มขึ้น โดยไม่ได้มองว่าการจัดทำรายงาน CSR เป็น "กลยุทธ์" ในการรับมือกับปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และเป็นการพัฒนาองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน

จึงถึงเวลาแล้วที่ภาคเอกชนไทยควรริเริ่มการจัดทำรายงาน CSR เพื่อเตรียมองค์กรให้พร้อมเข้าสู่สนามแข่งขันใหญ่ในตลาด AEC อีก 3 ปีข้างหน้า


[Original Link]