Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

คุ้มครอง-เคารพ-เยียวยา คาถาสิทธิมนุษยชน


สัปดาห์นี้ ผมจะต้องปั่นรายงานฉบับหนึ่งให้แล้วเสร็จตามกำหนด ที่จะต้องส่งให้แก่ทีมศึกษาเบื้องต้นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) และสิทธิมนุษยชนในอาเซียน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR)

โดยขณะนี้ รัฐบาลของหลายประเทศในภูมิภาค ต่างได้ริเริ่มส่งเสริมและจัดทำแนวปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ให้แก่ภาคเอกชนผ่านทางหน่วยงานต่างๆ อาทิ ตลาดหลักทรัพย์ หน่วยงานกำกับดูแลด้านการลงทุน องค์การด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฯ

อย่างไรก็ดี เนื่องจากแต่ละประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน มีฐานการประกอบอุตสาหกรรมและรูปแบบของวิสาหกิจที่หลากหลายไม่เหมือนกัน จึงจำเป็นต้องมีแนวการศึกษาที่แสดงให้เห็นภาพรวมและเน้นการปฏิบัติได้จริงในประเด็น CSR ที่สัมพันธ์กับเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งความพยายามในการทำความเข้าใจสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศสมาชิก ตลอดจนการหาบรรทัดฐานในการจัดทำแนวปฏิบัติร่วมกันในอนาคต

การศึกษาเบื้องต้นในครั้งนี้ จึงได้นำกรอบการทำงานซึ่งเป็นที่ยอมรับ อย่างเช่น หลักการแนวทางสำหรับการนำไปปฏิบัติตามกรอบ "Protect, Respect and Remedy" ที่สหประชาชาติได้ให้การรับรองไปเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554 มาใช้เป็นกรอบอ้างอิงในการศึกษาในแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งหลักการแนวทางดังกล่าว มีเนื้อหาสำคัญใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่

หน้าที่ของรัฐต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (State Duty to Protect) อาทิ การกำหนดนโยบายคุ้มครอง การแก้ไข และการลงโทษการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเคารพสิทธิมนุษยชนในประเทศที่ไปลงทุนทำกิจการ การให้หน่วยงานภาคธุรกิจตระหนักถึงพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐ การเคารพสิทธิมนุษยชนในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ การดำเนินการให้ภาคธุรกิจเคารพสิทธิมนุษยชนในการทำธุรกรรมทางการค้า ฯ

หน้าที่ของบรรษัทในการเคารพสิทธิมนุษยชน (Corporate Responsibility to Respect) อาทิ การมีนโยบายและกระบวนการในการป้องกัน บรรเทา และแก้ไขผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากกิจกรรมของภาคธุรกิจ การให้ผู้บริหารสูงสุดของภาคธุรกิจแสดงพันธกรณีที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชน การให้มีการตรวจสอบผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินธุรกิจของตน และให้มีการตอบสนองผลกระทบนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ การให้มีการสื่อสารกับสาธารณชนเมื่อมีข้อกังวลเกิดขึ้น ฯ

การเข้าถึงการเยียวยา (Access to Remedy) อาทิ การให้รัฐดำเนินการช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิให้ได้รับการเยียวยาผ่านมาตรการด้านการบริหารและกระบวนการยุติธรรม การส่งเสริมประสิทธิภาพของกลไกกระบวนการยุติธรรมให้สามารถเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิได้อย่างมีประสิทธิภาพ การอำนวยความสะดวกให้เข้าถึงกลไกการเยียวยาอื่นๆ ที่มิใช่ของรัฐ เช่น กลไกของสมาคมธุรกิจอุตสาหกรรม การให้ภาคธุรกิจสร้างกลไกเยียวยาทั้งในระดับบุคคลและในระดับชุมชน ฯ

จะเห็นได้ว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนกับภาคธุรกิจ เป็นประเด็นที่สหประชาชาติกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จนมีการผลักดันให้มีการจัดทำและรับรองหลักการแนวทางดังกล่าว เพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้นำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน มิให้ถูกละเมิดจากการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นที่ภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทยให้ความสำคัญอยู่ในขณะนี้เช่นกัน โดยประเทศไทยได้สนับสนุนและร่วมให้การรับรองหลักการแนวทางตามกรอบ "Protect, Respect and Remedy" ดังกล่าวนี้แล้วด้วย (ดาวน์โหลดเอกสารหลักการแนวทางฉบับนี้ได้ที่ http://bit.ly/AHRC1731)

จากนี้ไป ภาคธุรกิจไทย คงจะต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่ส่งผลต่อประเด็น CSR ที่สัมพันธ์กับเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง และเตรียมมาตรการ กลไกการดำเนินงานที่สนองตอบต่อหลักการแนวทางสำหรับการนำไปปฏิบัติตามกรอบ "คุ้มครอง เคารพ และเยียวยา" ที่ทั้งสหประชาชาติ อาเซียน และประเทศไทยเอง ได้ให้การรับรองและสนับสนุน ไม่ช้าก็เร็ว


[Original Link]