Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

คู่มือ CSR สำหรับองค์กรธุรกิจไทย


นับจากเดือนพฤษภาคม ปี 2554 ที่มีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำและเผยแพร่ Guidelines for Social Responsibility และ Guidelines for CSR Report ในรูปแบบ Multi-Stakeholder Forum ประกอบด้วยผู้มีส่วนได้เสียจากหลายภาคส่วน อาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งผู้แทนจากภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลอดจนวิสาหกิจทั่วไป มีแหล่งข้อมูลและเครื่องมือที่สามารถอำนวยความสะดวก และนำไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินกิจการที่มุ่งคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม การนำไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติ อย่างมีความรู้ความเข้าใจตลอดจนการนำไปใช้สนับสนุนการจัดทำรายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ที่สอดคล้องกับหลักการสากล

ปัจจุบัน คณะทำงานชุดดังกล่าว ได้จัดคู่มือทั้งสองฉบับเสร็จเป็นที่เรียบร้อย และนำออกเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยคู่มือฉบับแรกใช้ชื่อว่า “แนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ” ซึ่งเป็นแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการในแบบฉบับของไทย ที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญทั้งหมดของหลักการสากล ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมต่างๆ ได้แก่ ISO 26000, UN Global Compact, GRI รวมถึงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2549 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่จัดทำไว้ตั้งแต่ปี 2551 โดยผนวกกับเนื้อหาเพิ่มเติมด้านหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

เอกสารแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ เรียบเรียงขึ้นโดยคณาจารย์ในคณะกรรมการกลุ่มความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อพัฒนามาตรฐานการเรียนการสอนและการวิจัยด้านบริหารธุรกิจแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทจดทะบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไป มีแนววิธีการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ที่คำนึงถึงทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

โดยแบ่งออกเป็น 10 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) การกำกับดูแลกิจการที่ดี 2) การประกอบกิจการด้วยความเป็นธรรม 3) การต่อต้านการทุจริต 4) การเคารพสิทธิมนุษยชน 5) การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม 6) ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค 7) การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม 8) การจัดการสิ่งแวดล้อม 9) นวัตกรรมและการเผยแพร่นวัตกรรม จากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม และ 10) การจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน

ส่วนคู่มือฉบับที่สอง ใช้ชื่อว่า “แนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน” ซึ่งอ้างอิงจากแนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนขององค์การแห่งความริเริ่ม ว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) ในฉบับแปลภาษาไทย เพื่อใช้เป็นเอกสารตั้งต้นสำหรับบริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไป ใช้ศึกษาทำความเข้าใจถึงแนวทางและวิธีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน

เอกสารแนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน เป็นการจัดทำร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทจดทะบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไป มีแนววิธีการจัดทำข้อมูลรายงานการดำเนินงานของกิจการ ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยอ้างอิงจากกรอบการรายงานของ GRI ที่ประกอบด้วย เนื้อหา คุณภาพ ขอบเขตของการรายงาน มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล เกณฑ์วิธีตัวชี้วัด และการวัดระดับการรายงาน

จัดทำขึ้นเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นแนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน และส่วนที่เป็นวิธีจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบของ GRI Sustainability Reporting Guidelines รุ่น 3.1 ซึ่งเป็นฉบับแปลภาษาไทยจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ GRI

แนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนที่จัดทำขึ้นครั้งนี้ สามารถใช้เป็นเอกสารตั้งต้นสำหรับบริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไป ในการศึกษาทำความเข้าใจถึงแนวทางและวิธีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน เพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นช่องทางสื่อสารของ องค์กรในผลการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ แก่ผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ อย่างมีประสิทธิผล และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ผู้ที่สนใจเอกสารแนวทางทั้งสองฉบับดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ที่ www.csri.or.th ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


[Original Link]