Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

รายงานความยั่งยืนที่มาถูกทาง

สุธิชา เจริญงาม

เมื่อถึงช่วงใกล้ปิดปีงบประมาณ หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดทำรายงานประจำปี (Annual Report) จะเริ่มขอข้อมูลจากส่วนงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวเลขทางบัญชีก็ดูจะไม่ยากกระไร เพราะมีรูปแบบตามมาตรฐานทางการบัญชี และมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (International Financial Reporting Standards: IFRS) ฉบับใหม่ออกมาอยู่แล้ว


แต่ในส่วนของการจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) หรือในบางองค์กรเรียกว่า รายงานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR Report) นั้น ไม่ได้คำนึงถึงเฉพาะข้อมูลหรือตัวเลขทางบัญชี แต่ยังครอบคลุมไปถึงข้อมูลการดำเนินงานทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเน้นในการแสดงเนื้อหารายงานว่า องค์กรมีการดำเนินงานที่พัฒนาไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างไร จึงไม่อาจใช้กระบวนการในการรายงานได้เช่นเดียวกับการจัดทำรายงานประจำปี หากจะนำเพียงข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากกระบวนการเดิมที่มีอยู่ ก็คงจะไม่สามารถตอบโจทย์การรายงานความยั่งยืนได้เป็นแน่

องค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล หรือ GRI ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ก่อตั้งขึ้นโดยเครือข่าย Ceres และสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ในช่วงปี 2540 จึงได้พัฒนากรอบการรายงานความยั่งยืนขึ้นและประกาศแนวปฏิบัติหลัก หรือ Core Guidelines สำหรับการจัดทำรายงานมาตั้งแต่ปี 2543 (ฉบับ G1) และล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ได้ปรับปรุงเป็นฉบับ G3.1 ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน และมีการเผยแพร่แล้วเกือบหมื่นฉบับ (ข้อมูลจาก GRI Database เดือนกรกฎาคม 2555)

ในกรอบการรายงานของ GRI ได้แสดงให้องค์กรเห็นถึงวิธีการวางแผนและการนำไปผนวกให้เกิดการเข้าถึงและทวีคุณค่าของกระบวนการจัดทำรายงาน ซึ่งได้มาจากการกำหนดให้การจัดทำรายงานเป็น กระบวนการ มากกว่าที่จะทำเป็นโครงการ และมิใช่เป็นกระบวนการที่มุ่งหวังให้ได้เพียงเอกสารที่เป็นรายงาน หรืออีกนัยหนึ่ง องค์กรต้องสร้างกระบวนการจัดทำรายงานให้เป็นเครื่องมือ (Mean) ในการขับเคลื่อนงาน CSR ขององค์กรตลอดทั้งปี มากกว่าที่จะมุ่งให้ได้รายงานเป็นจุดหมาย (End) หรือเพียงแค่เอกสารรายงานขั้นสุดท้ายในตอนสิ้นปีงบประมาณเท่านั้น

การตั้งต้นตามกระบวนการรายงานในกรอบนี้ องค์กรต้องมีจินตภาพก่อนว่า เนื้อหาในรายงานจะประกอบด้วยเรื่องอะไรบ้าง (เน้นว่าเป็นเรื่องเนื้อหาไม่ใช่รูปแบบ) องค์กรจะรายงานในขอบเขตไหน อย่างไร เช่น ในปีแรก ๆ องค์กรอาจรายงานเฉพาะสำนักงานใหญ่ ยังไม่ครอบคลุมถึงสำนักงานสาขา ซึ่งได้มีการเตรียมการสำหรับการรายงานในปีถัด ๆ ไป

จากนั้นคณะทำงานซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการจัดทำรายงานจะดำเนินการคัดเลือกตัวบ่งชี้การดำเนินงาน เพื่อให้ครอบคลุมทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงความคาดหวังและผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กรที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ โดย GRI ได้ให้ตัวช่วยที่เป็นหลักการและตัวบ่งชี้การดำเนินงานไว้ในกรอบการรายงานฉบับ G3.1 รวมทั้งสิ้น 84 ตัวชี้วัด

ประกอบด้วยตัวบ่งชี้หลัก (Core indicators) ด้านเศรษฐกิจ 7 ตัวชี้วัด ด้านสังคม 31 ตัวชี้วัด และด้านสิ่งแวดล้อม 17 ตัวชี้วัด รวม 55 ตัวชี้วัด นอกนั้นเป็นตัวบ่งชี้เพิ่มเติม (Additional indicators) ด้านเศรษฐกิจ 2 ตัวชี้วัด ด้านสังคม 14 ตัวชี้วัด และด้านสิ่งแวดล้อม 13 ตัวชี้วัด รวม 29 ตัวชี้วัด

ถึงตอนนี้ความยากจะเริ่มบังเกิด เมื่อตระหนักว่าข้อมูลที่ต้องเก็บรวบรวมเพื่อรายงานตามตัวชี้วัดที่เลือกมานั้นจะไปหามาจากส่วนงานไหน หรือส่วนงานใดมีการเก็บรวบรวมข้อมูลไว้ตั้งแต่ต้นปี คำตอบที่ได้อาจไม่มีส่วนงานใดเก็บข้อมูลไว้เลย แม้แต่ในระบบบริหารจัดการทรัพยากรองค์กร หรือ ERP (Enterprise Resource Planning) ที่รวมการวางแผนทรัพยากรขององค์กร ตั้งแต่ระบบงานทางด้านบัญชีและการเงิน ระบบงานทรัพยากรบุคคล ระบบบริหารการผลิต รวมถึงระบบการกระจายสินค้า ฯลฯ ก็ไม่สามารถหาได้

เป็นเหตุให้หลายองค์กรที่เริ่มจัดทำรายงานความยั่งยืนจำเป็นต้องตัดตัวชี้วัดที่ได้คัดเลือกไว้ออกไปทีละตัว จนเหลือไว้เพียงตัวชี้วัดที่มีข้อมูล (ไม่นับรวมการปั้นน้ำข้อมูลที่อยากรายงาน) ด้วยปัญหาที่ไม่สามารถรวบรวมข้อมูลได้ ทำให้การเดินทางเพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งความยั่งยืนจึงยังต้องค้นหากันต่อไป

แต่อย่างน้อยองค์กรก็จะเริ่มตระหนักว่า ข้อมูลอะไรที่เก็บได้ และข้อมูลอะไรที่เก็บไม่ได้ แล้วแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เตรียมดำเนินการ หรือริเริ่มกระบวนการดังกล่าวในปีต่อไป

กลายเป็นว่ากระบวนการจัดทำรายงานความยั่งยืนนี้เองเป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางการดำเนินงาน และการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรด้วยตัวมันเอง

นี่คือสิ่งที่ GRI พยายามบอกกล่าวว่า เหตุใดการจัดทำรายงานความยั่งยืนจึงควรต้องทำให้เป็นกระบวนการ ไม่ใช่เพียงโครงการจัดทำเอกสารรายงาน


[Original Link]