Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ความยั่งยืน หน้าตาเป็นอย่างไร

สุธิชา เจริญงาม

ความเคลื่อนไหวหนึ่งที่น่าสนใจในขณะนี้ สำหรับองค์กรที่ทำเรื่อง CSR ก็คือ การริเริ่มพัฒนากลยุทธ์ขององค์กรที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน และนำกลยุทธ์ดังกล่าวมาประกาศเป็นข้อผูกพันขององค์กรที่มีต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งหลายกลยุทธ์ที่ประกาศนั้น หากดูผิวเผินก็มิได้มีความแตกต่างจากกลยุทธ์ทางธุรกิจปกติขององค์กร และยิ่งน่าสงสัยมากขึ้นว่า ตกลงแล้วกลยุทธ์เหล่านั้นมีความมุ่งหมายสู่ความยั่งยืนขององค์กรในทางธุรกิจ หรือความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวมกันแน่

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะองค์กรอาจขาดความเข้าใจที่แท้จริงว่า อะไรคือบริบทของความยั่งยืน หรือบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน เลยเกิดความสับสนในการพัฒนากลยุทธ์ขององค์กร ที่อยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืนตามที่องค์กรเข้าใจ

กระบวนการหนึ่งที่จะช่วยให้องค์กรเข้าใจถึงผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจต่อความยั่งยืน ประเด็นที่มีอิทธิพลและสำคัญต่อองค์กร รวมถึงข้อมูลที่จำเป็น เพียงพอและครบถ้วนสำหรับการนำไปประมวลหรือวิเคราะห์ผลที่เป็นประโยชน์ คือ "กระบวนการกำหนดเนื้อหาของรายงาน" ตามกรอบการรายงาน GRI ในฉบับ G 3.1 ซึ่งได้กล่าวถึงหลักการสำคัญไว้ 3 ประการ ได้แก่ บริบทความยั่งยืน (Sustainability Context) สารัตถภาพ (Materiality) และความสมบูรณ์ (Completeness)

ในการพิจารณาบริบทความยั่งยืน องค์กรควรพิจารณาถึงประเด็นหรือแง่มุม (Aspect) สำคัญต่าง ๆ จากการดำเนินงานตามเป้าหมายขององค์กรหรือเป้าหมายการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบต่อการดำเนินงานตามเป้าหมายนั้น ๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การประมวลประเด็นสำคัญที่สะท้อนถึงความยั่งยืน การพิจารณาถึงแนวโน้มความยั่งยืนไม่เพียงแค่เฉพาะองค์กรเท่านั้น แต่ต้องเป็นความยั่งยืนของสังคมโดยรวม โดยเกณฑ์การตรวจสอบบริบทความยั่งยืนที่ GRI แนะนำไว้ จะประกอบด้วยคำถามสำคัญ ดังนี้

ประเด็นที่หยิบยกมาดำเนินการ แสดงถึงความเข้าใจขององค์กรต่อประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน (คำนึงถึงการพัฒนาและการทำให้เสื่อมลงในหมวดเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ในอนาคต) หรือไม่
ประเด็นที่หยิบยกมาดำเนินการ นำไปสู่การขยายผลที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือไม่
ประเด็นที่หยิบยกมาดำเนินการ แสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติอย่างเหมาะสมขององค์กรที่สื่อถึงขนาดของผลกระทบตามบริบททางภูมิศาสตร์ (ท้องถิ่น ประเทศ ภูมิภาค หรือโลก) หรือไม่
ประเด็นที่หยิบยกมาดำเนินการ อธิบายถึงกลยุทธ์ในระยะยาว ความเสี่ยง และโอกาส รวมถึงประเด็นในห่วงโซ่อุปทานของกลยุทธ์นั้น ๆ หรือไม่

ด้วยกระบวนการกำหนดเนื้อหาของรายงาน ตามกรอบของ GRI ข้างต้น จะช่วยให้องค์กรทราบถึงประเด็นและข้อมูลสำคัญที่มีผลต่อความยั่งยืน ซึ่งควรได้รับการเสนอแนะจากคณะทำงาน CSR ขององค์กร รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ การตัดสินใจ การวางกลยุทธ์ การวัดผลลัพธ์ และการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์กรที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนตามเจตนารมณ์ตั้งต้นของกิจการได้จริง

สำหรับประเด็นที่องค์กรควรพิจารณาตามกรอบของ GRI ประกอบด้วย 6 ด้าน คือ

ด้านเศรษฐกิจได้แก่ ผลเชิงเศรษฐกิจ บทบาทในตลาด และผลกระทบทางอ้อมเชิงเศรษฐกิจ
ด้านสิ่งแวดล้อมได้แก่ วัสดุ พลังงาน น้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ มลพิษทางอากาศ น้ำทิ้ง และของเสีย ผลิตภัณฑ์และบริการ การปฏิบัติตามกฎหมาย
ด้านการปฏิบัติด้านแรงงานและงานที่มีคุณค่าได้แก่ การจ้างงาน แรงงาน/ฝ่ายบริหารสัมพันธ์ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย การฝึกอบรมและการให้ความรู้ ความหลากหลายและโอกาสแห่งความเท่าเทียม ผลตอบแทนที่เท่าเทียมระหว่างหญิงและชาย
ด้านสังคมได้แก่ ชุมชนท้องถิ่น การทุจริต นโยบายสาธารณะ การปฏิบัติตามกฎหมาย
ด้านสิทธิมนุษยชนได้แก่ แนวปฏิบัติทางการลงทุนและการจัดหาทรัพยากร การไม่เลือกปฏิบัติ เสรีภาพในการสมาคมและการร่วมเจรจาต่อรอง แรงงานเด็ก แรงงานเกณฑ์และแรงงานบังคับ การประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน และการเยียวยา
ด้านความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ได้แก่ สุขภาพและความปลอดภัยของลูกค้า การแสดงฉลากผลิตภัณฑ์และบริการ การสื่อสารการตลาด และการปฏิบัติตามกฎหมาย

หวังว่าแนวทางของ GRI ที่ใช้ในการกำหนดเนื้อหาของรายงาน จะช่วยให้องค์กรเห็นภาพหรือหน้าตาของความยั่งยืน ที่ควรคำนึงถึงในการออกแบบและพัฒนากลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนได้ไม่มากก็น้อย


[Original Link]