Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

เมื่อ CSR กลายเป็นกติกาธุรกิจยุคใหม่ !

สุวัฒน์ ทองธนากุล

การสัมมนา CSR Thailand 2012 ประจำปีนี้ กำหนดหัวเรื่องว่า “License to operate : ปรับให้ทัน...สังคมเปลี่ยน” นับเป็นบทบาทที่ CSR Club ของสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยใช้เวทีนี้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลจากการอภิปรายเพื่อกระตุ้นการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมธุรกิจ และทัศนคติผู้บริโภคที่มีแนวโน้มในการเลือกสนับสนุนธุรกิจที่มี CSR ครบเครื่อง

การอภิปรายหัวข้อ “บทเรียนการเปลี่ยนแปลง สู่องค์กรที่แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน” โดย อภิชาติ การุณกรสกุล กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.เอเชีย พรีซิซั่น, วุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร และ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ ดำเนินรายการโดย นงค์นาถ ห่านวิไล เดอะเนชั่น กรุ๊ป

ผมเชื่อว่าต้องมีคนสงสัยแน่ว่า CSR มันไปเกี่ยวอะไรกับ License to operate หรือ “ใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ”

แต่น่าจะหายสงสัยเมื่อเข้าใจว่านี่เป็นคำเปรียบเปรยในมิติ “ผลลัพธ์” ของการที่กิจการธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) คือกระบวนการต่างๆ ในการทำธุรกิจ เช่นการลงทุน การผลิต การขนส่ง และการตลาด ล้วนคำนึงถึงการสร้างคุณค่าและไม่ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสังคมซึ่งหมายถึงผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือที่เรียกว่า “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” (Stakeholders) ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า (ซัพพลายเออร์) ชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ด้วยคุณลักษณะขององค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ที่เริ่มจากภายในกระบวนการ (CSR-in-process) เช่นนี้ก็จะบริหารโดยยึดหลักธรรมาภิบาลมุ่งให้เกิดคุณภาพ ประสิทธิภาพ และคุณธรรม โดยให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ใน 3 มิติ ได้แก่ ผลดีทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่กำหนดในนโยบายและยุทธศาสตร์องค์กร

ขณะเดียวกันองค์กรประเภทนี้ก็ยังมีกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ที่มิได้หวังผลทางธุรกิจ (CSR-after-process) เช่น การบริจาคเงิน หรือสิ่งของเพื่อการศึกษา กีฬา วัฒนธรรม ช่วยเหลือสังคมผู้ด้อยโอกาส หรือโครงการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น

องค์กรที่มีความ “เก่งและดี” จนเป็นที่ยอมรับของสังคมเช่นนี้แหละก็เป็นที่ยอมรับและสนับสนุนจากผู้บริโภค และนักธุรกิจ นักลงทุน ประหนึ่งว่าเป็น “กิจการที่สังคมอยากให้มีอยู่”

เราจึงเห็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวนหนึ่งมีมูลค่าแบรนด์องค์กร (Corporate Brand Value) สูงกว่ามูลค่าตามบัญชีมาก ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นความนิยมเชื่อถือของสังคมธุรกิจที่มีต่อคุณค่ากิจการนั่นเอง

บนเวทีอภิปรายตอนหนึ่ง ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ได้จุดประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับพัฒนาการของบทบาท CSR ว่า

“เมื่อ 10 ปีที่แล้ว คนมักพูดว่า CSR เป็นเรื่องของความสมัครใจ แต่มาถึงวันนี้หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดถือเป็นหัวข้อขั้นพื้นฐานหนึ่งในหลักเกณฑ์ CSR”

แนวโน้มของการผนวกหลัก CSR เข้าไปในกระบวนการดำเนินธุรกิจ และเกณฑ์คุณภาพผลิตภัณฑ์

“เราจะปฏิเสธว่า CSR กับกระบวนการทางธุรกิจแยกกันไม่ได้อีกต่อไป”

ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า บริษัท หรือ องค์กรธุรกิจได้นำเอาบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไปมาพิจารณาปรับแนวทางการบริหารกิจการหรือไม่ ?

เพราะทุกวันนี้ เหตุปัจจัยการที่องค์กรธุรกิจต้องแสดงให้สังคมเห็นว่ามี CSR อย่างจริงใจ คือ มีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่อผู้บริโภค และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่เกิดจากแรงกดดันของภาคประชาสังคม หรือ เอ็นจีโอ เท่านั้น

แต่สังคมธุรกิจยุคใหม่ ทั้งผู้บริโภค คู่ค้า หรือซัพพลายเออร์ หรือแม้แต่พนักงาน และผู้ถือหุ้น ก็มีแนวโน้มมากขึ้นในการตั้งคำถามถึงความเป็นกิจการที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม หรือมี CSR แค่ไหน เพื่อเป็นตัวเลือกในการคบ-ค้าด้วย

ปรากฎการณ์เช่นนี้ ผู้ส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศในประชาคมยุโรปเริ่มรับรู้แล้วว่า ธุรกิจที่เป็นลูกค้าจะไม่สั่งซื้อหากไม่มีสิ่งยืนยันความมีมาตรฐานคุณภาพและมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ ความมี CSR

กระแสความตื่นตัวของผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าจากผู้ผลิตที่มี CSR จะเป็นพลังกดดันให้ผู้ประกอบธุรกิจเห็นคล้อยตามในการเลือกคบ-ค้ากับธุรกิจที่ดี ซึ่งกำลังส่งสัญญาณไปในระดับโลกและจะเริ่มมีผลกระทบในประเทศไทยให้เข้าสู่วิถีทาง “ผู้ใฝ่ดี” เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคมและลดวิกฤตของสภาวะแวดล้อม


[Original Link]