Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

การประชุมนานาชาติ ว่าด้วย ISO 26000


ตลอดสัปดาห์นี้ องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน หรือ ISO ได้จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประกอบด้วย การประชุมเชิงปฏิบัติการแบบปิด 2 วัน (5-6 พฤศจิกายน) สำหรับผู้แทนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Developing Country Workshop) เวทีประชุมเสวนาแบบเปิด 2 วัน (7-8 พฤศจิกายน) สำหรับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและบุคคลทั่วไป (Open Forum) และการประชุมเฉพาะสมาชิกกลุ่มที่ปรึกษาทางกลยุทธ์ในองค์กรดูแลหลังการประกาศใช้มาตรฐานในวันที่ 9 พฤศจิกายน (PPO’s SAG Meeting)


ผมมีโอกาสเดินทางมาเข้าร่วมประชุมในเวทีสำคัญดังกล่าวนี้ โดยได้รับการอนุมัติจาก ISO ให้เข้าร่วมในเวที Developing Country Workshop ในฐานะผู้แทนองค์กรภาคเอกชนจากประเทศไทย และถือโอกาสอยู่ร่วมประชุมต่อในเวที Open Forum ด้วย

การประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้แทนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ผ่านมา 2 วัน มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 120 คน จาก 70 ประเทศ โดยวัตถุประสงค์หลักเป็นไปเพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้มาตรฐาน ISO 26000 ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา การหารือถึงแนวทางการส่งเสริมการใช้มาตรฐาน ISO 26000 รวมถึงการรวบรวมความคิด ข้อมูล และเครื่องมือสำหรับการพัฒนาแผนการดำเนินงานในการส่งเสริมการใช้มาตรฐาน ISO 26000 ให้แก่สถาบันมาตรฐานแห่งชาติ (National Standards Bodies: NSBs) ในระยะข้างหน้า

ร็อบ สตีล เลขาธิการไอเอสโอ กล่าวว่า มาตรฐาน ISO 26000 มีอายุครบ 2 ปีเต็มหลังการประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 และนับเป็นครั้งแรกที่ไอเอสโอ ได้จัดงานนี้ขึ้นเฉพาะสำหรับมาตรฐานฉบับนี้ฉบับเดียว ซึ่งแสดงถึงการให้ความสำคัญและความเกี่ยวเนื่องในมาตรฐานฉบับดังกล่าวกับประเทศกำลังพัฒนา (มาตรฐานฉบับนี้ถูกร่างขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญจาก 99 ประเทศ และกว่าร้อยละ 40 มาจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา)

ในที่ประชุมกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ได้มีการหยิบยกกรณีศึกษาการส่งเสริมการนำมาตรฐาน ISO 26000 ไปใช้ในองค์กรธุรกิจของกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) 8 ประเทศนำร่อง ได้แก่ แอลจีเรีย อียิปต์ อิรัก จอร์แดน เลบานอน โมร็อกโก ซีเรีย และตูนิเซีย โดยมีความพยายามที่จะสร้างให้เกิดกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับชาติ (National Experts) ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อสนับสนุนการนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้กับกลุ่มองค์กรเป้าหมายในประเทศดังกล่าว

ส่วนเวที Open Forum มีการพูดถึงกิจกรรมและผลการสำรวจเกี่ยวกับมาตรฐาน ISO 26000 ขององค์กรที่ดูแลหลังการประกาศใช้มาตรฐาน (PPO) ในปี 2555 ประสบการณ์การใช้มาตรฐานในระดับนานาชาติ การเสวนาในหัวข้อที่เกี่ยวกับโอกาส ความท้าทาย ข้อกังวล และวิสัยทัศน์ในอนาคตของมาตรฐาน ISO 26000 รวมถึงการสรุปประเด็นและข้อแนะนำหลักจากผู้เข้าร่วมประชุม

การประชุมในคราวนี้ ได้เห็นถึงแนวโน้มของการให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน จากหน่วยงานระหว่างประเทศ อย่างเช่น ไอเอสโอนี้ เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด หลายคณะทำงานที่ยกร่างมาตรฐาน ISO ได้โยงเนื้อหาในมาตรฐานของตนเองให้เข้ากับเรื่องความยั่งยืนเพิ่มขึ้น จนกระทั่ง ไอเอสโอต้องจัดทำ ISO Guide 82: Guide for addressing sustainability in standards ขึ้น เพื่อให้การอ้างอิงเป็นไปในแนวทางเดียวกัน (เอกสารดังกล่าวยังเป็นเอกสารร่างของคณะทำงาน หรือ Committee Draft อยู่)

นอกจากนี้ ไอเอสโอ ยังได้ลงนามความตกลงร่วมกับมหาวิทยาลัยเจนีวา เปิดหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษา Master in Standardization, Social Regulation and Sustainable Development เพื่อรองรับกระแสเรื่องมาตรฐาน การกำกับดูแลทางสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยได้มีการนำประสบการณ์การจัดการศึกษาในหลักสูตรดังกล่าวมาถ่ายทอดในเวที Open Forum นี้ด้วย

ในวันพรุ่งนี้ (9 พ.ย.) ไอเอสโอ จะประกาศความริเริ่มในโครงการที่จะส่งเสริมการนำมาตรฐาน ISO 26000 ไปใช้เพิ่มเติมสำหรับกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันออก อีก 3 ประเทศ ได้แก่ เคนยา แทนซาเนีย และยูกันดา

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเอกสารของการประชุม ISO 26000 ทั้ง 2 งาน ผมจะประมวลและนำขึ้นเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถาบันไทยพัฒน์ และที่ www.thaicsr.com หลังกลับจากสวิตเซอร์แลนด์โดยเร็ววัน

[Original Link]