Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ยลออฟฟิศ ISO


หลังจากการประชุมเชิงปฏิบัติการที่องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน หรือ ISO จัดขึ้นสำหรับมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 5-9 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา คณะผู้เข้าร่วมประชุมส่วนหนึ่งได้มีโอกาสเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของ ISO ที่กรุงเจนีวานี้ด้วย


สิ่งแรกที่ทึ่งเมื่อก้าวเข้ามายังออฟฟิศของ ISO ในอาคารขนาดไม่ใหญ่นัก คือ พนักงานซึ่งมีเพียง 160 คน แต่สามารถทำงานด้านมาตรฐานที่สร้างผลกระทบไปทั่วโลก โดยทำงานร่วมกับประเทศที่เข้าเป็นสมาชิกไอเอสโอจำนวน 164 ประเทศ และประสานงานกับคณะทำงานทางเทคนิคที่ดูแลการพัฒนามาตรฐานอยู่ถึง 3,335 ชุด

ไอเอสโอได้ย้ายเข้ามาอยู่ในอาคารที่ทำการปัจจุบันได้ราว 5 ปี ใช้อาณาบริเวณ 4 ชั้น มีค่าใช้จ่ายดำเนินงานในส่วนของสำนักงานกลางนี้เฉลี่ยราว 100 ล้านบาทต่อเดือน โดยใช้เงินที่ได้จากรายได้ค่าสมาชิกร้อยละ 55 และรายได้จากการจำหน่ายมาตรฐานและบริการอื่นอีกร้อยละ 45 มาสนับสนุนการดำเนินงาน

นอกเหนือจากมาตรฐานยอดฮิตอย่าง ISO 9000 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ปัจจุบัน ไอเอสโอได้ผลิตและประกาศใช้มาตรฐานระหว่างประเทศรวมกว่า 19,000 ฉบับ นับเป็นจำนวนเกือบ 800,000 หน้า จำแนกออกได้เป็น 9 สาขาหลัก โดยสาขาที่มีสัดส่วนมากสุด 3 อันดับแรก คือ หมวดเทคโนโลยีวิศวกรรม ร้อยละ 27.6 หมวดเทคโนโลยีวัสดุ ร้อยละ 23.4 หมวดอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม ร้อยละ 16.7 ตามลำดับ

ไอเอสโอ ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดเก็บเอกสารมาตรฐานกว่า 19,000 ฉบับ และร่างมาตรฐานอีกกว่า 4,000 ฉบับ ในรูปของคลังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถเข้าถึงได้ทางเว็บไซต์ www.iso.org ทั้งหมด ทำให้ในสำนักงานแห่งนี้ ไม่มีบรรยากาศของคลังเอกสารขนาดใหญ่ให้ได้สัมผัส หรือเห็นการพิมพ์เอกสารมาตรฐานไว้รอจำหน่าย แต่จะเห็นการจัดเก็บและใช้งานข้อมูลมาตรฐานด้วยการบริหารแฟ้มข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แทน

โรเจอร์ ฟรอสต์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารและข้อมูล เล่าให้ฟังว่า เนื่องจากไอเอสโอทำงานด้านการพัฒนามาตรฐานที่มีผู้ใช้อ้างอิงทั่วโลก เอกสารแต่ละหน้า ข้อความแต่ละย่อหน้า และคำในแต่ละบรรทัด จะผิดพลาดไม่ได้ ทำให้การพิสูจน์อักษร การเรียบเรียง และการรักษาความหมายของเนื้อหามาตรฐาน (ที่มีการแปลเป็นภาษาอื่น) จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการทำงานของสำนักงานแห่งนี้ ในฐานะที่เป็นเลขานุการกลาง (Central Secretariat) ของไอเอสโอ

สิ่งที่หัวหน้าฝ่ายสื่อสารและข้อมูลท่านนี้ ได้บรรยายสรุปในหัวข้อสำคัญถัดมา คือ การให้ความสำคัญกับช่องทางการติดต่อสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันไอเอสโอได้ใช้ทั้งเฟซบุ๊ก (www.facebook.com/isostandards) และทวิตเตอร์ (@isostandards) ในการสื่อสารเพื่อเผยแพร่มาตรฐานและกิจกรรมของไอเอสโอด้วย

ในงานประชุม ISO 26000 ที่ผ่านมา ได้มีการใช้แท็ก #26000GVA สำหรับการติดตามข่าวบนทวิตเตอร์ และใช้ flickr (www.flickr.com/photos/isostandards) ในการเผยแพร่ภาพบรรยากาศทั้งการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้แทนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Developing Country Workshop) เวทีประชุมเสวนาสำหรับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและบุคคลทั่วไป (Open Forum) และการประชุมเฉพาะสมาชิกกลุ่มที่ปรึกษาทางกลยุทธ์ในองค์กรดูแลหลังการประกาศใช้มาตรฐาน (PPO’s SAG Meeting)

การเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของ ISO คราวนี้ ร็อบ สตีล เลขาธิการไอเอสโอ ได้เปิดห้องทำงานต้อนรับคณะผู้เยี่ยมชม ให้ได้พูดคุยและถ่ายภาพร่วมอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง ถือเป็นโอกาสที่มีไม่บ่อยครั้งนัก กับการบุกเข้ามายลออฟฟิศ ISO ในระยะประชิดขนาดนี้ เนื่องจากการประชุมของไอเอสโอส่วนใหญ่ มักจะเวียนจัดในประเทศสมาชิกที่เป็นผู้อาสาอุปถัมภ์ค่าใช้จ่าย ไม่ค่อยได้จัดงานในบ้านของตัวเอง เพราะค่าครองชีพแพง!


[Original Link]