Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ไขปัญหาเขียน SD Report ยึดกรอบ GRI สร้างความยั่งยืน


ตามปกติแล้วบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องนำส่งและเผยแพร่รายงานประจำปี โดยเปิดเผยผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่สำคัญของบริษัทในรอบปี ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในแนวทางกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์ฯ


นอกจากการเปิดเผยข้อมูลทางธุรกิจแล้ว สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ภายใต้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ส่งเสริมให้บริษัทจัดทำรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Report : SD Report) กระนั้นหากดูจำนวนรายงานที่บริษัทส่งให้กับสถาบันธุรกิจเพื่อสังคมแล้ว ถือว่ามีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับบริษัทจดทะเบียนที่มีอยู่ประมาณ 600 บริษัท

นำมาซึ่งคำถามว่า เหตุใดหลายบริษัทจึงไม่นำเสนอรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน? หรือระหว่างการทำรายงานมีข้อติดขัดใด จึงทำให้รายงานไม่สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้?

"ฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์" ผู้อำนวยการฝ่ายการรายงาน สถาบันไทยพัฒน์ บอกว่า หลายองค์กรไม่เข้าใจความสำคัญของการทำรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน นั่นเป็นเพราะบริษัทเห็นว่าตนทำซีเอสอาร์เยอะ แต่ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในองค์กร ทั้งไม่แน่ใจว่าหากทำแล้วจะนำไปสู่ความยั่งยืนได้จริงหรือไม่ ซึ่งการทำรายงานตามกรอบของ GRI (Global Reporting Initiative) จะเข้ามาช่วยตอบคำถามตรงนี้ ว่าหากต้องการไปสู่ความยั่งยืนแล้วจะต้องวัดผลอย่างไร

"เมื่อมีการจัดทำรายงาน หลายส่วนงานมองว่าเป็นการไปเพิ่มภาระให้เขา ดังนั้นบริษัทต้องจัดประชุมให้ทุกหน่วยงานเข้าใจว่า การจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนเกี่ยวข้องกับทั้งองค์กร และแต่ละหน่วยงานเกี่ยวพันกับตัวชี้วัด GRI ข้อไหนบ้าง"

เมื่อเข้าสู่กระบวนการทำรายงาน พบว่าส่วนใหญ่ติดขัดเรื่องของการลงรายละเอียดข้อมูล อย่างตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม บางบริษัทมีโครงการที่ต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่แล้ว ก็ดึงประเด็นนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของภาพรวมการจัดการสิ่งแวดล้อมได้ แต่ไม่สามารถนำมาใช้แทนภาพรวมด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กรทั้งหมด หรือการจัดทำข้อมูลในส่วนของตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ หรือตัวชี้วัดอื่นที่สอดคล้องกับรายงานประจำปี บริษัทก็สามารถดึงข้อมูลจากรายงานประจำปีมาอ้างอิงได้

นอกจากนี้ "ฌานสิทธิ์" มองว่า หากบริษัททำรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเป็นโอกาสอย่างยิ่งต่อการเชื่อมโยงกระดานซื้อขายหลักทรัพย์อาเซียน (ASEAN Trading Link) เพราะรายงานจะเป็นตัวกลางในการสื่อสารการดำเนินงานทั้งเชิงบวกและลบ

การตั้งคุณค่ารวมขององค์กร และยิ่งเปิดเผยข้อมูลมากเท่าไร ก็แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส ดังนั้นนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศก็สามารถตรวจสอบบริษัทได้ ถือว่าช่วยดึงดูดนักลงทุนได้ทางหนึ่ง

"ประเด็นเรื่องความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ สิทธิมนุษยชน การดูแลพนักงาน สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงไปถึงความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ คนที่จะลงทุนก็ต้องคิดว่าองค์กรไหนที่จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งตอนนี้ต่างชาติก็เริ่มระบุแล้วว่าจะทำธุรกิจกับบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเท่านั้น ก็เหมือนเป็นการบังคับกลาย ๆ ว่าสุดท้ายแล้วบริษัทก็ต้องทำรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน"

เหตุดังกล่าวทำให้บริษัทในประเทศไทยตื่นตัวทำรายงานตามกรอบ GRI โดยตัวเลขล่าสุดพบว่าเมื่อต้นปีมีบริษัทไทยประมาณ 15 แห่งลงทะเบียนกับ GRI ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี ว่าสิ่งที่สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) พยายามผลักดันไม่ใช่เรื่องสูญเปล่า เพราะจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่จัดทำรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ

อีกทั้งในปี 2555 สถาบันธุรกิจเพื่อสังคมยังได้ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์จัดโครงการเพื่อให้คำปรึกษาเชิงลึกในการจัดทำรายงาน (โค้ชชิ่ง) ให้แก่บริษัทจดทะเบียนที่เคยผ่านการอบรมในโครงการ CSR DAY มาแล้ว โดยตั้งเป้าหมายในปีนี้ 20 บริษัท และขณะนี้มีบริษัทจดทะเบียนที่แสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการแล้ว 16 แห่ง พร้อมเปิดรับบริษัทที่สนใจอีก 4 แห่งเพื่อเป็นกลุ่มนำร่องและขยายความเข้าใจและการตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์จากการจัดทำรายงาน

เพราะรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงการรายงานผลการดำเนินงาน แต่คือสิ่งสะท้อนการดำเนินการการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม การรักษาสมดุลของเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกันยังสะท้อนถึงจุดอ่อน ข้อควรปรับปรุงเพื่อลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากธุรกิจ


[Original Link]