เผยทิศทาง CSR & Sustainability ปี56 ยุคการพัฒนาที่ยั่งยืน
สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI)
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผยทิศทาง CSR & Sustainability ปี 2556 เข้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนยุค 2.0 เน้นหลักการ ‘เปิดเผย’ และ ‘เปิดกว้าง’ เพื่อตอบโจทย์ความคาดหวังของสังคมอย่างรอบด้าน
สำหรับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development ฉบับ2.0 ฉบับใหม่นี้ ได้พัฒนาขึ้น จากตัวแบบเดิมตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เพื่อลดข้อจำกัดของการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบเดิม ที่ทำแบบแยกส่วน มาเป็นการเน้นให้เกิดผลของการพัฒนาที่มีความเชื่อมโยงระหว่างมิติในทุกระดับ
นายบดินทร์ อูนากูล รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรรมการ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) กล่าวในงานแถลง CSR & Sustainability ปี 2556 “Sustainable Development 2.0” ในวันนี้ (31 ม.ค. 2556) ว่า กระแสของการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ผลักดันให้ทุกภาคส่วนของสังคม หันมาให้ความสนใจการพัฒนาการดำเนินงานที่คำนึงถึงมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างมีความเชื่อมโยงกัน จนกลายเป็นทิศทางหลักของโลก ที่นานาประเทศให้ความเห็นชอบร่วมกันสำหรับใช้เป็นกรอบการพัฒนาทั้งในในระดับองค์กรจนถึงระดับประเทศ
“ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญในการสร้างรากฐานสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดทุน สังคม และประเทศ จึงได้จัดตั้งสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) เป็นสถาบันหลักในการพัฒนาความรู้และส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อสร้างคุณค่าแก่องค์กร ผู้มีส่วนได้เสียและสังคมอย่างยั่งยืน โดยในปี 2556 นี้ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ได้กำหนดแผนงานที่สำคัญซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับหลักการ CSR ยุคการพัฒนาที่ยั่งยืน 2.0 กล่าวคือ การส่งเสริมสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนจัดทำรายงานความยั่งยืนของกิจการ (Corporate Sustainability Reporting) ซึ่งในปีที่ผ่านมา สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ได้จัดทำและเผยแพร่คู่มือแนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามหลักการรายงานสากล GRI (Global Reporting Initiatives) ขึ้น และในปี 2556 ได้มีแผนการจัดอบรมสัมมนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างต่อเนื่องทั้งปี เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนสามารถนำหลักการไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
ปัจจุบัน ผู้ลงทุนได้ให้ความสำคัญในการเลือกลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักธรรมาภิบาลมากขึ้น การจัดทำรายงานเปิดเผยข้อมูลตามหลัก GRI จึงทำให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้องเกี่ยวกับกลยุทธ์และการดำเนินงานของบริษัทในเรื่องดังกล่าวประกอบการตัดสินใจลงทุน อีกทั้งการจัดทำรายงานดังกล่าว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่องค์กรต่าง ๆ สามารถใช้ประเมินตนเอง เพื่อให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานได้ทราบว่ายังมีกระบวนการทำงานใดที่องค์กรต้องปรับปรุงพัฒนา เพื่อให้บริษัทสามารถบริหารจัดการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ และเติบโตได้อย่างยั่งยืน” นายบดินทร์กล่าว
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีแนวคิดในการจัดทำข้อมูลดัชนีความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET Sustainability Index หรือ SET SI) เพื่อใช้เป็นกลไกในการส่งเสริมและปรับแนวการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทจดทะเบียน เข้าสู่ทิศทางที่เกื้อหนุนให้เกิดความยั่งยืนของกิจการและการพัฒนาที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น”
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เผยผลการศึกษาทิศทาง CSR & Sustainability ในปีนี้ว่า การขับเคลื่อนเรื่อง CSR ขององค์กรธุรกิจไทย โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนและกิจการขนาดใหญ่ จะได้รับอิทธิพลจากกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน อันเป็นผลจากการประชุม Rio+20 เมื่อกลางปีที่แล้ว ซึ่งได้มีการเสนอให้เปลี่ยนกรอบคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการคำนึงถึงเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากแบบเสาหลัก (pillars) แห่งการพัฒนา มาเป็นมิติ (dimensions) แห่งการพัฒนา นับจากปี ค.ศ. 2015 เป็นต้นไป
หลักการ CSR ของภาคธุรกิจ ที่เกื้อหนุนให้เกิดความยั่งยืนของกิจการและการพัฒนาที่ยั่งยืนยุค 2.0 ที่สำคัญ คือ การ ‘เปิดเผย’ และ ‘เปิดกว้าง’ เพื่อตอบโจทย์ความคาดหวังของสังคมในแบบ 360° คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน โดยหนึ่งในรูปธรรมที่เกิดขึ้น คือ การผลักดันภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนและกิจการขนาดใหญ่ ให้มีการรายงานข้อมูลความยั่งยืนของกิจการ (Corporate Sustainability Reporting)
นอกจากนี้ ภาคธุรกิจ ยังได้ริเริ่มแนวทางในการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงชุมชนในระดับฐานราก หรือที่เรียกว่า “ธุรกิจที่ไม่ปิดกั้น” (Inclusive Business) เช่น การสร้างงานแก่คนในท้องถิ่นที่มีรายได้น้อย การมอบโอกาสให้แก่สมาชิกชุมชนในการเป็นผู้ส่งมอบ ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าปลีก ผู้ให้บริการในห่วงโซ่ธุรกิจ และการพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการตามกำลังซื้อของผู้บริโภคในระดับฐานราก ให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
ด้านนางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต ก.ล.ต. จึงสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนดำเนินธุรกิจภายใต้หลัก CSR เพื่อนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลักการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเพื่อเป็นแบบอย่างแก่ภาคเอกชนและธุรกิจอื่นต่อไป รวมทั้งเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนทั่วโลกที่ปัจจุบันมีแนวโน้มให้น้ำหนักการลงทุนในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจภายใต้หลัก CSR มากขึ้น
“เพื่อเป็นการผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนให้ความสำคัญกับ CSR ยิ่งขึ้น ก.ล.ต. อยู่ระหว่างเตรียมออกประกาศเพื่อให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้าน CSR ไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และรายงานประจำปี ส่วนบริษัทที่จะออกและเสนอขายหลักทรัพย์ใหม่ ก็ให้เปิดเผยข้อมูลไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบ 69-1) โดยข้อมูลดังกล่าวจะสะท้อนว่าบริษัทมีนโยบายการดำเนินงานที่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแล้วหรือไม่ อย่างไร ซึ่งจะเป็นไปตามเอกสารแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (พ.ศ. 2555) ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดทำขึ้น ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลนี้จะทำให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลสำคัญที่ใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น ขณะที่บริษัทจดทะเบียนก็จะได้สอบทานตัวเองว่าได้ดำเนินการเรื่อง CSR ตรงกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรแล้วหรือไม่ โดยประกาศนี้คาดว่าจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไป” นางวรัชญา กล่าว
สำหรับรายละเอียดการประมวลแนวโน้ม CSR & Sustainability ปี 2556 สามารถศึกษาได้จากรายงาน “6 ทิศทาง CSR & Sustainability ปี 2556: Sustainable Development 2.0” ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสถาบันไทยพัฒน์ สอบถามเพิ่มเติม 0 2930 5227 info@thaipat.org หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.thaipat.org
[Original Link]