ตอบโจทย์ความยั่งยืน
เมื่อเร็วๆ นี้มีงานสัมมนาที่น่าสนใจซึ่งจัดโดยสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในหัวข้อ Sustainability Reporting : "An Effective Tool for Corporate Communication in Sustainability Era" โดยในงานนี้ได้มีการเชิญ Ms.Nikki McKean-Wood ผู้จัดการอาวุโสด้านเครือข่ายสัมพันธ์ ของ Global Reporting Initiative (GRI) มาเป็นวิทยากรหลักเพื่อแนะนำเครื่องมือการสื่อสารขององค์กรในยุคแห่งความยั่งยืน
นับเป็นครั้งที่สองแล้ว ที่ GRI ได้มาจัดกิจกรรมในบ้านเรา โดยในครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ.2553 ที่ Mr. Enrique Torres ผู้จัดการอาวุโสด้านการสอนและการอบรมของ GRI ได้เดินทางมาจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ เพื่อแนะนำการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือ Sustainability Report อย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย
การจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม ถือเป็นช่องทางสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ และมีอัตราที่เติบโตขึ้นมาก โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ลงทุนสถาบันที่มีความต้องการใช้ข้อมูลเรื่องบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม มาประกอบการลงทุนและการทำธุรกรรมกับบริษัทและองค์กรที่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ลงทุนสถาบันจำนวน 5 แห่งในประเทศไทย ซึ่งบริหารเม็ดเงินรวมกันเกือบ 7 ล้านล้านบาท ได้ประกาศจุดยืนร่วมกันในการให้ความสำคัญที่จะพิจารณาความเหมาะสมในการทำธุรกรรมกับบริษัทและองค์กรที่ไม่ให้ความสำคัญกับบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม หรือเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน
ปัจจุบัน มีหลายประเทศที่ส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจในประเทศของตน จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนเผยแพร่ต่อสาธารณะ อาทิ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย และมีองค์กรธุรกิจจำนวนเกือบ 5,000 แห่งทั่วโลกได้จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบการรายงานของ GRI โดยมีรายงานที่เผยแพร่แล้วนับหมื่นฉบับ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ร่วมกับอีกหลายหน่วยงาน จัดทำและเผยแพร่เอกสารแนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจทั่วไป มีแนววิธีการจัดทำข้อมูลรายงานการดำเนินงานของกิจการที่คำนึงถึงความรับผิดชอบทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยอ้างอิงจากกรอบการรายงานของ GRI ที่ประกอบด้วย เนื้อหา คุณภาพ ขอบเขตของการรายงาน มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล เกณฑ์วิธีตัวชี้วัด และการวัดระดับการรายงาน โดยจัดทำขึ้นเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นแนวทางการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน และส่วนที่เป็นวิธีจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบของ GRI Sustainability Reporting Guidelines รุ่น 3.1 ซึ่งเป็นฉบับแปลภาษาไทยจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ GRI
ในประเทศไทย มีองค์กรที่ได้จัดทำรายงานความยั่งยืนตามกรอบการรายงานของ GRI ฉบับ G3 และ G3.1 และเผยแพร่ให้แก่สาธารณชนแล้วจำนวน 18 แห่ง อาทิ บมจ.บางจากปิโตรเลียม บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท บมจ การบินไทย บมจ.กสท โทรคมนาคม บมจ.ท่าอากาศยานไทย ฯลฯ
บริษัทและองค์กรต่างๆ ที่ต้องการให้การประกอบการของตนเองมีความยั่งยืน สามารถพัฒนากระบวนการรายงานแห่งความยั่งยืน ให้เป็นแพลตฟอร์มหลักในการสื่อสารกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ทำให้การดำเนินงานซึ่งส่งผลต่อความยั่งยืน ถูกเฝ้าสังเกตและติดตามอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง และมีการส่งผ่านข้อมูลไปยังผู้มีอำนาจตัดสินใจเพื่อใช้ปรับแต่งนโยบายและกลยุทธ์ รวมถึงการปรับปรุงการดำเนินงาน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการขององค์กร ด้วยการใช้รายงานแห่งความยั่งยืน เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนและยกระดับบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ
[Original Link]