Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

เปิดตัวกรอบการรายงานฉบับ G4


เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน Global Conference on Sustainability and Reporting ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งจัดโดย Global Reporting Initiative (GRI) โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานราว 1,600 คน จากเกือบ 70 ประเทศทั่วโลก


ในงาน 3 วัน (22-24 พ.ค. 2556) มีทั้งการสัมมนา การนำเสนอ การประชุมโต๊ะกลม การประชุมเชิงปฏิบัติการ การฝึกอบรมแบบ Master Class และกิจกรรมเชื่อมเครือข่าย (Networking) รวมกันได้ 50 วาระ (Session) เรียกได้ว่า หน่วยงานไหน ถ้ามาคนเดียว ไม่สามารถวิ่งรอกเก็บข้อมูลได้ครบถ้วนแน่ๆ

ไฮไลท์ของงานในครั้งนี้ คือ การเปิดตัวแนวทางการรายงานของ GRI ฉบับ G4 ซึ่งได้มีการปรับปรุงจากฉบับ G3.1 ที่ใช้อ้างอิงกันอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงถูกใช้อ้างอิงโดยบริษัทในประเทศไทยที่ได้จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนหรือรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบ GRI ด้วย

เรื่องใหม่ที่ได้มีการปรับปรุงในฉบับ G4 โดยสังเขป คือ การปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลในหัวข้อการกำกับดูแล จริยธรรมและความสุจริต ห่วงโซ่อุปทาน การต่อต้านทุจริต และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงรูปแบบสามัญของการเปิดเผยแนวการบริหารจัดการที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ โดยให้ความสำคัญในระดับประเด็น (Aspects)

อีกเรื่องหนึ่งที่ถูกรื้อและปรับโฉมโดยสิ้นเชิง คือ การเปิดเผยระดับของการรายงาน ที่แต่เดิมกำหนดเหมือนเกรด A, B, C ทำให้เกิดความสับสนว่า เป็นการบ่งบอกถึงคุณภาพของการรายงาน หรือผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน แทนที่จะเป็นปริมาณหรือระดับของการเปิดเผยข้อมูลในรายงานตามแนวทาง GRI โดยในฉบับ G4 นี้ จะใช้การระบุว่า เป็นไปตามหลักเกณฑ์ (‘in accordance’ criteria) แนวทางการรายงานของ GRI ในแบบหลัก (Core) หรือแบบรวม (Comprehensive) แทนวิธีการเดิม

ความแตกต่างระหว่างหลักเกณฑ์ทั้งสองแบบ ได้แก่ การเปิดเผยข้อมูลทั่วไปในแบบรวม จะเพิ่มรายละเอียดของกลยุทธ์และการวิเคราะห์ การกำกับดูแล จริยธรรมและความสุจริต มากกว่าในแบบหลัก ส่วนการเปิดเผยข้อมูลจำเพาะ ทั้งสองแบบกำหนดให้เปิดเผยแนวการบริหารจัดการเฉพาะประเด็นที่มีสาระสำคัญเท่านั้น

ขณะที่การเปิดเผยข้อมูลตามตัวบ่งชี้การดำเนินงาน ในแบบหลัก ให้เปิดเผยอย่างน้อย 1 ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็นซึ่งถูกระบุว่ามีสาระสำคัญ ส่วนในแบบรวม ต้องรายงานครบทุกตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็นซึ่งถูกระบุว่ามีสาระสำคัญดังกล่าว

ส่วนการรับประกันแบบรายงานจากภายนอก (External Assurance) เพื่อเพิ่มเครื่องหมาย ‘ + ’ ต่อหลังเกรดตามแนวทางการรายงานในฉบับ G3 หรือ G3.1 นั้น ในฉบับ G4 นี้ ได้ยกเลิกไปพร้อมกับการให้เกรดเช่นกัน แต่ในตารางดัชนีข้อมูล (Content Index) ได้เพิ่มสดมภ์ (Column) เพื่อให้ระบุว่าข้อมูลที่เปิดเผยส่วนใดบ้าง ได้รับการประกันจากภายนอก

แนวทางการรายงาน ฉบับ G4 ได้ตอกย้ำเรื่องสารัตถภาพ (Materiality) ของกระบวนการรายงานและเปิดเผยข้อมูล โดยพิจารณาถึงสิ่งซึ่งองค์กรควรดำเนินการตามขอบเขต What matters, How matters, and Who matters และตั้งอยู่บนพื้นฐานของกรอบความคิด Why (it) matters ที่เปิดทางให้องค์กรสามารถใช้การรายงานดังกล่าว พัฒนารูปแบบรายงานให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกลุ่มต่างๆ อาทิ รายงานแบบเบ็ดเสร็จ (Integrated Report) ให้แก่นักลงทุนที่คำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนและการสร้างมูลค่าในระยะยาว

สำหรับองค์กรที่เพิ่งศึกษาหรือริเริ่มจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามแนวทาง GRI ฉบับ G3.1 ก็อย่าเพิ่งตกใจหรือสงสัยว่า จะต้องมาศึกษาหรือเรียนรู้กระบวนการรายงานในฉบับ G4 โดยทันทีหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ครับ เพราะองค์กรยังสามารถจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามฉบับ G3.1 ไปได้อีกสองรอบการรายงาน (จนถึงสิ้นปี พ.ศ.2558) หลังจากนั้น GRI ถึงจะยกเลิกแนวทางการรายงานฉบับ G3.1

หมายความว่า รายงานรอบปีนี้ ปีหน้า และปีมะรืน ก็ยังคงใช้ฉบับ G3.1 ได้อยู่ครับ


[Original Link]