ตามรอยการประชุมโลกว่าด้วยความยั่งยืน
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดงานเสวนาตามรอยการประชุมระดับโลกว่าด้วยการรายงานและความยั่งยืน ในหัวข้อ “GRI Global Conference Debrief on Sustainability and Reporting” ถอดรหัสการสร้างองค์กรยั่งยืน ด้วยกรอบการรายงานสากลฉบับใหม่ล่าสุด ที่พัฒนาขึ้นโดยองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI)
การเสวนาในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์ รวมทั้งถ่ายทอดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ที่สนใจ จากการที่ทีมงานได้เดินทางไปร่วมการประชุมระดับโลกว่าด้วยการรายงานและความยั่งยืน (Global Conference on Sustainability and Reporting) ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2556 โดยมีผู้เข้าร่วมงานราว 1,600 คน จากเกือบ 70 ประเทศทั่วโลก
เท้าความกันสักนิดหนึ่งว่า GRI เป็นองค์กรอิสระที่ก่อตั้งโดยสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และเครือข่าย Ceres ทำหน้าที่พัฒนากรอบการรายงานแห่งความยั่งยืนและนำออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2543 ซึ่งเรียกว่า ฉบับ G1
ถัดจากนั้น ในปี พ.ศ.2545 GRI ได้ประกาศแนวทางการรายงานในฉบับ G2 ที่เวทีการประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่นครโจฮันเนสเบอร์ก และตามมาด้วยฉบับ G3 ในปี พ.ศ.2549 อันเป็นผลจากการยกร่างของบรรดาผู้เชี่ยวชาญกว่า 3,000 คน ทั้งจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมและผู้แทนภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม กรอบการรายงานฉบับดังกล่าวได้กลายมาเป็นมาตรฐานตามความนิยม (de facto standard) สำหรับการรายงานแห่งความยั่งยืน และถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยได้มีการปรับปรุงเป็นฉบับ G3.1 ในปี พ.ศ.2554
ล่าสุด เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา GRI ได้ยกระดับกรอบการรายงานแห่งความยั่งยืนเป็นฉบับ G4 และได้ใช้เวทีประชุมระดับโลกที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประกาศแนวทางการรายงานฉบับใหม่นี้ โดยได้มีการปรับปรุงจากฉบับ G3.1 ที่ใช้อ้างอิงกันอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงถูกใช้อ้างอิงโดยบริษัทในประเทศไทยที่ได้จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนหรือรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบ GRI ด้วย
รายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) เป็นรายงานที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การดำเนินงาน การกำกับดูแล แนวการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สะท้อนทั้งในทางบวกและทางลบ โดยมุ่งเป้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ปัจจุบัน มีองค์กรทั่วโลกที่จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบของ GRI แล้วมากกว่า 5,000 แห่ง โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคต่างๆ
โดยจากการสำรวจข้อมูลผลการดำเนินงานของบริษัทที่มีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน พบว่า สามารถให้ผลตอบแทนอยู่เหนือกลุ่มบริษัทที่อยู่ในดัชนีอย่าง MSCI World และ S&P 500 ตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
หัวใจของการรายงานความยั่งยืนตามกรอบ GRI มิได้อยู่ที่การจัดทำเพื่อให้ได้เล่มรายงานเป็นผลลัพธ์หลัก แต่เป็นการใช้กระบวนการของการจัดทำรายงานมาสร้างคุณค่าให้แก่องค์กรในบริบทของความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับความครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ ที่ไม่จำกัดเฉพาะการสร้างมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุน แต่ยังรวมถึงลูกค้า คู่ค้า ผู้ส่งมอบ ชุมชน สิ่งแวดล้อม และสังคมโดยรวม
ในงานเสวนา ยังได้มีการนำเสนอเนื้อหาและเครื่องมือใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน สถานการณ์ความเคลื่อนไหวเรื่องความยั่งยืนและการจัดทำรายงานในระดับโลก แนวโน้มของ External Assurance และการปรับปรุงกระบวนการรายงานด้วย GRI Taxonomy โดยทีมงานของสถาบันที่ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมใหญ่และกิจกรรมคู่ขนาน ทั้งใน Plenary Meeting ใน Master Class Training และในช่วง Regional Presentation เพื่อรวบรวมเนื้อหาและข้อมูลสำคัญๆ จากเวทีประชุมที่กรุงอัมสเตอร์ดัม นำมาถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่ต้องการรับทราบเนื้อหาและข้อมูลจากงานประชุมดังกล่าว โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเสวนาในครั้งนี้กว่า 200 คน จาก 114 องค์กรและ 4 มหาวิทยาลัย
[Original Link]