Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

จับทิศ "รายงานความยั่งยืน" GRI ฉบับ G4

ลดขนาด-โฟกัสจุดสำคัญ

ท่ามกลางการแข่งขันกันอย่างรุนแรงในโลกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดี นวัตกรรมเด่น หรือการทำการตลาดเป็นเลิศเพียงใด สิ่งที่คนในสังคมเริ่มถามหา คือความไว้เนื้อเชื่อใจ และการตั้งคำถามว่า ธุรกิจนั้น ๆ มีการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในทุกมิติหรือไม่

เพราะทั้งหมดจะสะท้อนไปยังความเชื่อมั่นต่อการตัดสินใจร่วมลงทุนในธุรกิจของนักลงทุน รวมถึงลูกค้าที่จะสามารถไว้วางใจได้ว่า ธุรกิจที่ให้การอุดหนุนจะสามารถสร้างความยั่งยืนให้สังคมและสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ควบคู่ไปกับการเติบโตของธุรกิจ


ดังนั้น นอกเหนือจากบริษัทจะมีการจัดทำรายงานผลประกอบการประจำปีแล้ว การจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) ควบคู่ ยังเป็นเครื่องยืนยันถึงความมั่นคงของธุรกิจที่จะส่งผลไปถึงความรู้สึกของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือ Stakeholder

ในระดับโลก การริเริ่มการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน เกิดจากสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และเครือข่าย Ceres ที่จัดตั้งการรายงานสากล Global Reporting Initiative หรือ GRI ในปี 2543 และกำหนดกรอบการจัดทำรายงาน ฉบับ G1 และมีพัฒนาการเรื่อยมาในฉบับ G2, G3 และ G3.1

จนมาถึงฉบับ G4 เพิ่งจัดให้มีการประชุมระดับโลก ว่าด้วยการรายงานและความยั่งยืน (Global Conference on Sustainability and Reporting) ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา งานนี้มีผู้มาจากทั่วโลกราว 1,600 คน จากเกือบ 70 ประเทศ

ขณะที่ในไทย ประมาณ 3-5 ปีก่อน มีบริษัทจดทะเบียนชั้นนำอย่าง SCG, ปตท., บางจาก ฯลฯ เป็นธุรกิจกลุ่มแรก ๆ ที่มีการจัดทำรายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และพัฒนามาเป็นรายงานแห่งความยั่งยืน โดยมีอีกหลายบริษัทให้ความสนใจในการจัดทำรายงานฯ จากการส่งเสริมของสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและความเคลื่อนไหวล่าสุด ทางคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เตรียมออกกฎเกณฑ์ให้บริษัทจดทะเบียนต้องมีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามแนวกรอบของ GRI (Global Reporting Initiative) ในรายงานประจำปี ส่งผลให้บริษัทหลายแห่งมีโครงการเพื่อสังคมออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้

"ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ" ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พาร์ตเนอร์สำคัญของ CSRI กล่าวในงาน "เสวนาตามรอยการประชุมระดับโลก ว่าด้วยการรายงานและความยั่งยืน" ในหัวข้อ "GRI Global Conference Debrief on Sustainability and Reporting" ถอดรหัสการสร้างองค์กรยั่งยืน ด้วยกรอบการรายงานสากลฉบับใหม่ล่าสุด ที่จัดขึ้น

ไม่นานนี้ว่า ปัจจุบันมีองค์กรทั่วโลกที่จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบของ GRI มากกว่า 5,000 แห่ง โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคต่าง ๆ โดยจากการสำรวจข้อมูลผลการดำเนินงานของบริษัทที่มีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน พบว่าสามารถให้ผลตอบแทนอยู่เหนือกลุ่มบริษัทที่อยู่ในดัชนีอย่าง MSCI World และ S&P 500 ตลอดช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

"บริษัทที่เริ่มทำ GRI ฉบับ G 4 ทั่วโลกส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจการเงิน พลังงาน อาหาร ฯลฯ สำหรับประเทศไทย ถ้าบริษัทใดยังจัดทำรายงานความยั่งยืนบน G3 อยู่ก็สามารถทำได้ เพราะยังเป็นแนวทางที่ยังใช้ได้อยู่จนถึงปี 2558 แต่หลังจากนั้นแนะนำให้ยึดกรอบแนวทางตามฉบับ G4 แต่หากเป็นบริษัทที่ไม่เคยทำเลยถือเป็นโอกาสดีที่จะมาเริ่มทำตามแนวทางใหม่ ขณะนี้เชื่อว่ามีหลายบริษัทที่เริ่มจัดทำรายงานตามกรอบ G4 ประมาณ 5-6 บริษัทซึ่งจะเห็นรูปเล่มในปีหน้าอย่างแน่นอน"

เทรนด์ทำรายงานเพิ่มทั่วโลก
"ฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์" ผู้อำนวยการฝ่ายการรายงาน สถาบันไทยพัฒน์ เล่าถึงการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนทั่วโลกว่า มีทั้งในลักษณะของภาคบังคับและภาคสมัครใจ โดยมีผู้ผลักดันคือตลาดทุนของประเทศนั้น ๆ และรัฐบาลอย่างในยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงจีน ก็มีการกำกับดูแลโดยรัฐทั้งสิ้น ซึ่งแนวโน้มของการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนกำลังเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยในจำนวนองค์กรที่จัดทำรายงานกว่า 5,000 ราย มีรายงานที่เผยแพร่แล้วจำนวนกว่า 13,000 ฉบับ และเป็นการจัดทำรายงานตามกรอบ GRI จำนวน 11,000 กว่าฉบับ

"จากการแลกเปลี่ยนในเวที พบว่ามีบางบริษัทที่รายงานผลกระทบด้านบวกในรายงานเกินจริง ซึ่งในเรื่องนี้ในการจัดทำรายงานจะมีการตรวจสอบโดยการประเมินรูปแบบของการจัดทำรายงานทั้งจากผู้ตรวจสอบภายในและภายนอก โดยผู้ประเมินนั้นอาจมาในรูปขององค์กรหรือผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่จะช่วยบอกว่าการจัดทำรายงานของเรานั้นมีความสมบูรณ์ในระดับใด"

ปรับเพิ่ม GRI ฉบับ G4
ต่อข้อสงสัยที่ว่ามีอะไรใหม่ในGRI ฉบับ G4 และต่างจากฉบับ G 3.1 อย่างไรนั้น "รุ่งทิพย์ เพ็ญพันธุ์" นักวิจัย สถาบันไทยพัฒน์ อธิบายให้ฟังว่า จากเดิมที่ ตลท.ของเราทำกรอบของ G3.1 มาปรับใช้ จนมาถึงความเปลี่ยนแปลงใน G4 ซึ่งจะมีการปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น ในหัวข้อการกำกับดูแลจริยธรรมและความสุจริต ห่วงโซ่อุปทาน การต่อต้านทุจริต และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงรูปแบบสามัญของการเปิดเผยแนวการบริหารจัดการที่ได้รับการปรับปรุงใหม่โดยให้ความสำคัญในระดับประเด็น (Aspects)

"ที่ปรับเปลี่ยนใหม่ไปเลย คือการเปิดเผยระดับของการรายงาน ที่แต่เดิมกำหนดเหมือนเกรด A, B, C ทำให้เกิดความสับสนว่า เป็นการบ่งบอกถึงคุณภาพของการรายงาน หรือผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน แทนที่จะเป็นปริมาณหรือระดับของการเปิดเผยข้อมูลในรายงานตามแนวทาง GRI โดยในฉบับ G4 นี้ จะใช้การระบุว่า เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ("in accordance" criteria) แนวทางการรายงานของ GRI ในแบบหลัก (Core) หรือแบบรวม (Comprehensive) แทนวิธีการเดิม"

IR บูรณาการเพื่อนักลงทุน
แนวทางการจัดทำรายงานอีกฉบับที่ถูกกล่าวถึงในงานนี้ ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ Integrated Reporting (IR) ของ IIRC รูปแบบของการจัดทำรายงานประจำปีโดยมีการบูรณาการข้อมูลด้านความยั่งยืนเข้าไปด้วย ทั้งนี้ เพื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักลงทุนจะสามารถมองเห็นภาพรวมของการดำเนินธุรกิจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

"วรณัฐ เพียรธรรม" นักวิจัย สถาบันไทยพัฒน์ อธิบายว่า IR เป็นอีกพัฒนาการของการรายงานผลประ กอบการประจำปี หรือ Annual Report ที่แทรกและบูรณาการเรื่องของความยั่งยืนเข้าไป ทำให้นักลงทุนสามารถใช้ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง การจัดทำรายงานในลักษณะนี้จึงต้องอาศัยความมีส่วนร่วมของหลายหน่วยงานในองค์กร เพื่อเปลี่ยนความคิดในการจัดทำรายงานประจำปีให้มีลักษณะของการบูรณาการมากยิ่งขึ้น

"ก่อนหน้านี้ทรัพย์สินที่มีตัวตนสามารถสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจได้ 83% ขณะที่ทรัพย์สินไม่มีตัวตนสร้างมูลค่าตลาดได้ 17% แต่หลังจากปี 2009 ทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตนกลับขยับเข้ามาสร้างมูลค่าในตลาดได้ถึง 81% ขณะที่สินทรัพย์ที่มีตัวตนสร้างได้เพียง 19% ทำให้เราต้องกลับมามองเรื่องนี้ใหม่ ซึ่ง IR เกิดขึ้นเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงมูลค่าของทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตนที่นักลงทุนจะมองเห็นได้ชัดเจนและคาดการณ์ได้ว่าจะสามารถสร้างมูลค่าตลาดให้เกิดขึ้นได้อย่างไร"

ง่ายขึ้นด้วย GRI Taxonomy
มาถึงตอนนี้เชื่อว่ายังมีข้อกังวลจากคณะจัดทำรายงานเพื่อความยั่งยืนของกิจการไม่น้อยที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร และจะรายงานข้อมูลส่วนใดบ้าง ทาง GRI จึงมีตัวช่วยอย่าง GRI Taxonomy หรือการอภิธานคำศัพท์เพื่อค้นหาคำอธิบายของรายละเอียดของข้อมูลที่ต้องการบรรจุลงในงานได้ทันที

"วีรญา ปรียาพันธ์" นักวิจัย สถาบันไทยพัฒน์ เล่าว่า ที่ผ่านมาเราพบว่าบริษัทต่างรู้แนวทางในการเขียนรายงาน แต่มีปัญหาที่ไม่ทราบว่าจะนำข้อมูลอะไรมาเขียน GRI จึงพัฒนา GRI Taxonomy อนุกรมอภิธานคำศัพท์ขึ้นมาเพื่อให้องค์กรจัดทำรายงานได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำขึ้น

"GRI Taxonomy จะช่วยบอกข้อมูลรายงานที่เราต้องการเปิดเผยได้อย่างตรงจุด ชัดเจน โดยไม่จำเป็นต้องเกริ่นนำบรรยายถึงที่มาที่ไป แต่ให้รายงานเฉพาะข้อมูลที่มาความสำคัญเพื่อลดเวลาของผู้อ่าน ทำให้การจัดทำรายงานสามารถลดจำนวนหน้าจากเดิมที่อาจเคยทำ 40-50 หน้า ให้เหลือไม่ถึง 10-20 หน้าเท่านั้น และดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของ GRI"

อย่างไรก็ตาม หัวใจของการรายงานความยั่งยืนตามกรอบ GRI ไม่ได้อยู่ที่การจัดทำเพื่อให้ได้เล่มรายงาน แต่เป็นการใช้กระบวนการของการจัดทำรายงานมาสร้างคุณค่าให้แก่องค์กรให้เกิดความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ ที่ไม่จำกัดเฉพาะการสร้างมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุน แต่ยังรวมถึงลูกค้า คู่ค้า ผู้ส่งมอบ ชุมชน สิ่งแวดล้อม และสังคมโดยรวม

ที่สำคัญ การทำรายงานความยั่งยืนไม่ได้เป็นภาระที่น่ากังวลแต่ประการใด เพราะในกระบวนการทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลทั้งหลายเหล่านั้น นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงให้แก่ธุรกิจ ยังทำให้รู้จุดอ่อนจุดแข็งขององค์กร จนนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดด้วย


[Original Link]