Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

จุดพลุรางวัลรายงานความยั่งยืน


การส่งสัญญานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับซีเอสอาร์ของปี 2556 ในปี 2557 ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และรายงานประจำปี (แบบ 56-2) ทำให้หลายบริษัทตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการทำรายงานซีเอสอาร์ หรืออาจเรียกต่างกันไปในชื่ออื่น เช่น รายงานความยั่งยืน ซึ่งนอกจากรางวัล CSR Awards ภายใต้การจัดการประกวด SET Awards ซึ่งจะมอบให้แก่บริษัทจดทะเบียนที่มีความโดดเด่นในการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว ล่าสุดสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย, ก.ล.ต. และสถาบันไทยพัฒน์ ได้ร่วมกันจัดโครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืนขึ้นด้วย

วัฒนา โอภานนท์อมตะ” ประธาน CSR Club สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า จากการทำงานของ CSR Club ที่ผ่านมาพบว่า นักลงทุนต้องการทราบข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ( ESG : Environment , Social, Governance) ของบริษัทอย่างมาก แสดงให้เห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องจำเป็น จึงจัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ ให้ความสำคัญและมีการจัดทำรายงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกบริษัททั้งบริษัทที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าร่วมโครงการได้ โดยสามารถส่งรายงานได้ถึง 15 ก.ย. 2556 จากนั้นจะประกาศรางวัลในงาน CSR Thailand 2013 ในวันที่ 12-13 พ.ย. 2556

ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. อยากให้บริษัทจดทะเบียนนำแนวคิดซีเอสอาร์เข้าไปอยู่ในกระบวนการธุรกิจ หรือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์บริษัท ซึ่งโครงการนี้จะทำให้บริษัทได้ทราบถึงแนวในการทำซีเอสอาร์ได้ชัดเจนขึ้น และเป็นตัวอย่างให้กับภาคเอกชนอีกด้วย ตนมองว่าการทำรายงานจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนและนักลงทุนทั่วโลกได้เข้าใจบริษัทอย่างถูกต้องมากขึ้น และช่วยเพิ่มคุณค่าของกิจการไปในตัวด้วย อีกทั้งเป็นผลดีต่อการลงทุนของผู้ลงทุนในอนาคต ทั้งนี้ ก.ล.ต. เชื่อว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนของธุรกิจจะนำมาซึ่งความเข้มแข็งของบริษัท และส่งผลให้ตลาดทุนไทยมีความเข้มแข็ง และดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ” ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ บอกว่า จากการสำรวจบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในดัชนี S&P 500 ตั้งแต่ปี 2544-2554 และดัชนี MSCI World ตั้งแต่ปี 2545-2555 พบข้อมูลไปในทางเดียวกันว่า บริษัทที่จัดทำรายงานความยั่งยืนมีผลประกอบการสูงกว่า และมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนดีกว่าบริษัทที่ไม่ได้เปิดเผยข้อมูล ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลมีความเชื่อมโยงกับผลประกอบการทางธุรกิจ

สำหรับการประกวดครั้งนี้จะพิจารณาจากรายงานเป็นหลัก และจะไม่มีการให้ตอบแบบสอบถามหรือการสำรวจใดๆ เพิ่มเติม โดยบริษัทที่ต้องการขอพิจาณารับรางวัลสามารถส่งรายงานความยั่งยืนหรือรายงานในชื่ออื่น เช่น รายงานซีเอสอาร์ หรืออยู่ในรายงานประจำปี มาได้ที่สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย

“รางวัลแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับยอดเยี่ยม ระดับดีเยี่ยม และระดับดีเด่น ซึ่งจะพิจารณารางวัลแต่ละระดับให้กับบริษัทจดทะเบียนใน SET, mai และบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นการแบ่งกลุ่มไปเลย โดยรางวัลระดับดีเด่นจะเปิดกว้าง และไม่จำกัดจำนวนรางวัล ซึ่งจะมอบให้กับบริษัทที่สามารถผ่านเกณฑ์การพิจารณาของคณะกรรมการ”

ทั้งนี้เกณฑ์การพิจารณามี 3 ด้าน คือ 1. ความสมบูรณ์ของรายงานที่ต้องครบถ้วนทั้งข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 2.มีวิธีการสื่อสารรายงานเข้าถึงผู้อ่านทุกระดับให้สามารถเข้าใจได้ และ 3. ความน่าเชื่อถือของรายงาน ซึ่งข้อมูลที่บริษัทเปิดเผยควรมีการตรวจสอบ การยืนยันแหล่งข้อมูล หรือการสอบทานจากผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย


[ประชาชาติธุรกิจ]