รายละเอียดโครงการประกาศรางวัลฯ ปี 2556
รายละเอียดโครงการ | ผลการประกาศรางวัล |
หลักการและเหตุผล
จากความต้องการของผู้ลงทุนที่มีต่อข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงข้อมูลทางการเงิน ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงผลประกอบการในอดีต ผู้ลงทุนได้ให้ความสำคัญของข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คำว่า ESG ซึ่งย่อมาจาก Environmental, Social, and Governance จึงเกิดขึ้นในแวดวงตลาดทุน เพื่ออธิบายถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน
Financial Times ได้บัญญัติความหมายของ ESG ว่าเป็นคำที่ใช้ในตลาดทุนโดยผู้ลงทุนเพื่อใช้ประเมินการดำเนินงานของบริษัท และทำให้ล่วงรู้ถึงผลประกอบการในอนาคตของบริษัท ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการประกอบการดังกล่าวนี้ มาจากบทบาทของบริษัทที่มีต่อเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) เรื่องความยั่งยืน (Sustainability) หรือที่มักอ้างอิงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม
การเปิดเผยข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงินในรูปของรายงาน ซึ่งบริษัททั่วโลกดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ รายงานความยั่งยืน หรือ Sustainability Report ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การดำเนินงาน การกำกับดูแล แนวการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สะท้อนทั้งในทางบวกและทางลบ โดยมุ่งเป้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
จากตัวเลขของ CorporateRegister.com ที่เป็นแหล่งรวบรวมและเผยแพร่รายงานประเภทนี้ พบว่ามีรายงานอยู่เกือบ 50,000 ฉบับ ที่ถูกเผยแพร่โดยบริษัทกว่า 10,000 แห่งทั่วโลก ในจำนวนนี้เป็นรายงานที่มาจากประเทศไทยเพียง 231 ฉบับ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.47 ของรายงานที่เผยแพร่ทั้งหมด (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ก.ค. 56)
สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย โดย CSR Club ได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้บริษัทที่ประกอบการอยู่ในประเทศไทย เผยแพร่ข้อมูลด้าน ESG อันจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ลงทุนในแวดวงตลาดทุน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ของกิจการ ในรูปของรายงานความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น จึงได้ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ ริเริ่มโครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report Award) ให้เป็นกิจกรรมหนึ่งในงานสัมมนา CSR Thailand ประจำปี โดยจะเริ่มในปี พ.ศ.2556 ซึ่งมีกำหนดจัดงานในวันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2556
โครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืนนี้ จะมีส่วนช่วยในการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพของตลาดทุนไทยให้เทียบเท่ากับตลาดทุนชั้นนำ อันจะนำไปสู่การยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในภูมิภาคและในระดับสากลต่อไป
วัตถุประสงค์
• | เพื่อประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืนให้แก่บริษัทจดทะเบียน รวมถึงบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ |
• | เพื่อส่งเสริมให้บริษัททั้งในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ เปิดเผยข้อมูลด้าน ESG อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ลงทุนในแวดวงตลาดทุน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ของกิจการ |
• | เพื่อเป็นการยกระดับบริษัทจดทะเบียนและบริษัททั่วไป รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ให้สามารถพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนในระยะยาว |
ประเภทรางวัล
การพิจารณารางวัล จะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม (League) คือ กลุ่มบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) กลุ่มบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) กลุ่มบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ และกลุ่มบริษัทที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) โดยในแต่ละกลุ่ม จะมีการพิจารณาให้รางวัลใน 3 ระดับ ได้แก่
• รางวัลรายงานความยั่งยืน ระดับยอดเยี่ยม (ประจำปี)
• รางวัลรายงานความยั่งยืน ระดับดีเยี่ยม
• รางวัลรายงานความยั่งยืน ระดับดีเด่น (ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน)
การคัดเลือก
• | บริษัทที่สนใจ ยื่นความจำนงขอรับการพิจารณารางวัล แก่สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย พร้อมกับรายงานความยั่งยืน ปี พ.ศ. 2555 หรือรายงานในชื่ออื่น (CSR Report, Integrated Report, Annual Report etc.) ซึ่งเปิดเผยข้อมูล ESG หรือผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ครบทั้งสามด้าน |
• | คณะกรรมการพิจารณาตัดสินรางวัล จะคัดเลือกบริษัทที่จะให้รางวัล โดยการพิจารณาจากข้อมูลที่เผยแพร่ในรายงานความยั่งยืน และข้อมูลที่รายงานความยั่งยืนมีการอ้างอิงไปยังแหล่งข้อมูลภายนอก โดยไม่ใช้แบบสำรวจข้อมูลหรือแบบสอบถามใดๆ เพิ่มเติม |
• | บริษัทที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกบริษัท มีสิทธิ์ที่จะได้รับรางวัลรายงานความยั่งยืน ระดับดีเด่น โดยไม่จำกัดจำนวนรางวัล ส่วนรางวัลรายงานความยั่งยืน ระดับดีเยี่ยม และระดับยอดเยี่ยม (ประจำปี) จะมีเพียงระดับละ 1 รางวัล ในแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้ ผลการตัดสินของคณะกรรมการ ถือเป็นที่สิ้นสุด |
เกณฑ์การพิจารณาตัดสินรางวัล
การพิจารณาตัดสินรางวัลรายงานความยั่งยืน จะใช้เกณฑ์ 3 ด้านที่มีน้ำหนักคะแนนต่างกัน ดังนี้
• ด้านความสมบูรณ์ (Completeness) ของรายงาน
• ด้านความเชื่อถือได้ (Credibility) ของรายงาน
• ด้านการสื่อสารและนำเสนอ (Communication) รายงาน
ระยะเวลายื่นความจำนง
15 สิงหาคม - 15 กันยายน 2556
ผู้ดำเนินโครงการ
• สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
• สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย โดย CSR Club
• สถาบันไทยพัฒน์