Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

CSV: กลยุทธ์ธุรกิจคู่สังคม


ในปี พ.ศ.2548 สถาบันไทยพัฒน์ ได้ดำเนินโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่องการพัฒนา CSR ในกระบวนการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจ เพื่อศึกษาคุณลักษณะและองค์ประกอบของ CSR ที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยและพัฒนาบนพื้นฐานของภูมิปัญญาตะวันออก ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ผลลัพธ์จากงานวิจัยชิ้นนั้น ก่อให้เกิดคำว่า “CSR-in-process” ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีการใช้ตัวกระบวนการธุรกิจเป็นเครื่องมือในการจำแนก CSR ออกเป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ในกระบวนการธุรกิจ ซึ่งมีผู้ใช้คำเรียกแทนว่า “ธุรกิจเพื่อสังคม” แม้จะไม่ค่อยตรงความหมายมากนัก แต่เพื่อต้องการชี้ให้เห็นความแตกต่างกับการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในรูปของกิจกรรมที่แยกต่างหากจากกระบวนการธุรกิจและมักเกิดขึ้นภายหลัง หรือ “CSR-after-process” และมีการใช้คำเรียก CSR จำพวกนี้ว่า “กิจกรรมเพื่อสังคม”

ปัจจุบัน คำว่า “CSR-in-process” ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อแสดงให้เห็นถึงการประกอบธุรกิจที่ทำอยู่ปกติอย่างรับผิดชอบ ด้วยการคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์กร อันนำไปสู่ความยั่งยืน นอกเหนือจากการเติบโตของกิจการ

การขับเคลื่อนเรื่อง CSR ได้มีพัฒนาการมาเป็นลำดับ จากการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียในกรอบของการ “ทำก็ต่อเมื่อเกิดเรื่อง” ในลักษณะเชิงรับหรือเชิงตอบสนองเพื่อมุ่งจัดการกับผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้น ที่เรียกว่าเป็น Responsive CSR มาสู่กรอบของการ “ทำโดยไม่รอให้เกิดเรื่อง” ในลักษณะเชิงรุกหรือเชิงป้องกันเพื่อสร้างให้เกิดเป็นคุณค่าหรือผลกระทบทางบวก ด้วยการใช้ศักยภาพและความเชี่ยวชาญที่องค์กรมีอยู่ หรือที่เรียกว่าเป็น Strategic CSR

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา วิธีการทางธุรกิจเพื่อใช้สร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ ได้ถูกพัฒนาต่อยอดจากแนวคิด Strategic CSR จนกลายมาเป็น Creating Shared Value (CSV) หรือการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจและสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน โดยไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ ผู้ที่เป็นต้นตำรับของแนวคิดดังกล่าว ล่าสุดได้ก่อตั้งเป็น Shared Value Initiative เมื่อปี 2555 เพื่อนำแนวคิด CSV ที่ทั้งสองได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น ไปใช้ในองค์กรและทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

ในประเทศไทย องค์กรภาคธุรกิจหลายแห่ง ได้ทำการศึกษาและนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้กับองค์กร ถึงขนาดที่ว่า มีองค์กรบางแห่งประกาศจะนำมาใช้แทนเรื่อง CSR ที่กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ยังมีความเข้าใจที่มีความแตกต่างหรือมีความคลาดเคลื่อนในหมู่ของผู้ที่นำแนวคิด CSV มาใช้

การสร้างคุณค่าร่วม หรือ CSV ตามแนวทางของไมเคิล อี พอร์เตอร์ ให้ความสำคัญกับการนำวิธีการทางธุรกิจมาใช้ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสังคม โดยคำนึงถึงการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักของกิจการ มาสร้างให้เกิดเป็นคุณค่าเชิงเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมกัน ถือเป็นส่วนที่มาขยายหรือเติมเต็มการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้วิถีของการทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ ในบริบทของ CSR-in-process นั่นเอง


[Original Link]