กระชับพื้นที่ CSV
สุธิชา เจริญงาม
นับตั้งแต่ที่ ไมเคิล อี พอร์เตอร์ ได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง Creating Shared Value (CSV) ร่วมกับ มาร์ค เครเมอร์ ในปี พ.ศ.2554 ว่าเป็นบทบาทของภาคธุรกิจที่จะร่วมพัฒนาสังคมด้วยการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักขององค์กรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าให้แก่สังคมควบคู่ไปพร้อมกัน ซึ่งมีความแตกต่างจากการขับเคลื่อน CSR ในรูปแบบเดิม จนในปัจจุบัน มีองค์กรธุรกิจที่ขานรับเอาแนวคิดดังกล่าวไปใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกสาขาอุตสาหกรรม
สำหรับองค์กรหน้าใหม่ที่ต้องการนำแนวคิด CSV เคลื่อนไปสู่ภาคปฏิบัติ ข้อแนะนำของไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ ที่ได้ให้ผ่านทางชุมชนนักปฏิบัติ “Shared Value Initiative” ซึ่งทั้งสองได้ร่วมกันก่อตั้งในปี พ.ศ.2555 มีจุดเริ่มต้นจากการสร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมหรือเงื่อนไขสนับสนุนใน 3 ประการสำคัญ ได้แก่
หนึ่ง การกำหนดให้เป็นข้อผูกมัดหรือข้อยึดมั่นในระดับองค์กร
สอง การจัดวางโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดทางให้เกิดการขับเคลื่อน
สาม การเฟ้นหาและบ่มเพาะบุคลากรให้มีไฟและมีพลังนำการขับเคลื่อน
แนวทางของการกำหนดเรื่องการสร้างคุณค่าร่วมให้เป็นข้อผูกมัดหรือข้อยึดมั่นในระดับองค์กร ควรเริ่มต้นจากการปรับเจตจำนงขององค์กรและการกำหนดวิสัยทัศน์ที่แสดงให้เห็นการคำนึงถึงคุณค่าร่วม การเชื่อมโยงความต้องการทางสังคมในประเด็นที่กำหนดเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ และการสร้างให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร
ส่วนการจัดวางโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดทางให้เกิดการขับเคลื่อน CSV ในระดับองค์กร ประกอบด้วย การออกแบบโครงสร้างการดำเนินงานใหม่จากการพิจารณาภาวะความพร้อมของเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบ การแสวงหาหุ้นส่วนการทำงานร่วมกับองค์กรภายนอกซึ่งมีความเชี่ยวชาญจำเพาะในประเด็นทางสังคมนั้นๆ การพัฒนาหรือดัดแปลงกระบวนการธุรกิจ รวมถึงการสร้างระบบการวัดผลในเชิงคุณค่าร่วม
ในแง่ของการเฟ้นหาและบ่มเพาะบุคลากรให้มีไฟและมีพลังนำการขับเคลื่อนเรื่อง CSV มีข้อพิจารณาตั้งแต่การสร้างแรงจูงใจหรือให้สิ่งจูงใจในรูปแบบที่เหมาะสมแก่พนักงาน การพัฒนาบ่มเพาะความรู้ สมรรถภาพ และภาวะผู้นำ รวมถึงการเฟ้นหาบุคลากรที่มีความสามารถโดดเด่นในเรื่องดังกล่าวเข้ามาร่วมงาน
หลังจากที่ได้ดำเนินการจัดวางเงื่อนไขสนับสนุนหรือสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดขึ้นแล้ว ข้อพิจารณาต่อมา คือ การจัดวางองค์ประกอบที่ช่วยในการออกแบบความริเริ่มหรือแผนงานในการสร้างคุณค่าร่วม ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนากรณีทางธุรกิจ การเข้าร่วมกับหุ้นส่วนดำเนินการภายนอก การกำหนดกิจกรรมและเม็ดเงินลงทุน การจัดโครงสร้างทรัพยากรในองค์กร การกำหนดตัวชี้วัดผลลัพธ์ทางธุรกิจและทางสังคม
ทั้งนี้ การที่องค์กรจะสามารถจัดวางองค์ประกอบสำหรับความริเริ่มหรือแผนงานในการสร้างคุณค่าร่วม องค์กรจำเป็นที่จะต้องทราบหรือกำหนดระดับการสร้างคุณค่าร่วมที่ประสงค์จะดำเนินการ โดยพิจารณาจากความพร้อมของทรัพยากรและเงื่อนไขที่องค์กรมีอยู่ในขณะนั้นว่าสอดคล้องกับระดับของการคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นความต้องการของสังคมขึ้นใหม่ หรือระดับของการยกระดับผลิตภาพในห่วงโซ่ธุรกิจ หรือระดับของการสร้างปัจจัยสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นที่เอื้อต่อการประกอบการ
เมื่อองค์กรสามารถกำหนดระดับการสร้างคุณค่าร่วมที่จะดำเนินการ สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงในขั้นต่อไป คือ การระบุตัวชี้วัดที่เป็นผลลัพธ์ทั้งในเชิงธุรกิจและในเชิงสังคมของความริเริ่มหรือแผนงานที่สอดคล้องกับระดับการสร้างคุณค่าร่วมที่เลือกดำเนินการ
ในบริบทของการสร้างคุณค่าร่วม ตัวชี้วัดที่เป็นผลลัพธ์เชิงสังคมจะใช้เป็นตัวตัดสินใจหรือตอบโจทย์การลงทุนในความริเริ่มหรือแผนงานที่องค์กรได้ออกแบบเพื่อดำเนินการ โดยผลได้ในเชิงสังคมที่เกิดขึ้นจะใช้เป็นตัวเหนี่ยวนำให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงธุรกิจตามมาด้วย
[ประชาชาติธุรกิจ]
นับตั้งแต่ที่ ไมเคิล อี พอร์เตอร์ ได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง Creating Shared Value (CSV) ร่วมกับ มาร์ค เครเมอร์ ในปี พ.ศ.2554 ว่าเป็นบทบาทของภาคธุรกิจที่จะร่วมพัฒนาสังคมด้วยการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญหลักขององค์กรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าให้แก่สังคมควบคู่ไปพร้อมกัน ซึ่งมีความแตกต่างจากการขับเคลื่อน CSR ในรูปแบบเดิม จนในปัจจุบัน มีองค์กรธุรกิจที่ขานรับเอาแนวคิดดังกล่าวไปใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกสาขาอุตสาหกรรม
สำหรับองค์กรหน้าใหม่ที่ต้องการนำแนวคิด CSV เคลื่อนไปสู่ภาคปฏิบัติ ข้อแนะนำของไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ ที่ได้ให้ผ่านทางชุมชนนักปฏิบัติ “Shared Value Initiative” ซึ่งทั้งสองได้ร่วมกันก่อตั้งในปี พ.ศ.2555 มีจุดเริ่มต้นจากการสร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมหรือเงื่อนไขสนับสนุนใน 3 ประการสำคัญ ได้แก่
หนึ่ง การกำหนดให้เป็นข้อผูกมัดหรือข้อยึดมั่นในระดับองค์กร
สอง การจัดวางโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดทางให้เกิดการขับเคลื่อน
สาม การเฟ้นหาและบ่มเพาะบุคลากรให้มีไฟและมีพลังนำการขับเคลื่อน
แนวทางของการกำหนดเรื่องการสร้างคุณค่าร่วมให้เป็นข้อผูกมัดหรือข้อยึดมั่นในระดับองค์กร ควรเริ่มต้นจากการปรับเจตจำนงขององค์กรและการกำหนดวิสัยทัศน์ที่แสดงให้เห็นการคำนึงถึงคุณค่าร่วม การเชื่อมโยงความต้องการทางสังคมในประเด็นที่กำหนดเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ และการสร้างให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร
ส่วนการจัดวางโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดทางให้เกิดการขับเคลื่อน CSV ในระดับองค์กร ประกอบด้วย การออกแบบโครงสร้างการดำเนินงานใหม่จากการพิจารณาภาวะความพร้อมของเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบ การแสวงหาหุ้นส่วนการทำงานร่วมกับองค์กรภายนอกซึ่งมีความเชี่ยวชาญจำเพาะในประเด็นทางสังคมนั้นๆ การพัฒนาหรือดัดแปลงกระบวนการธุรกิจ รวมถึงการสร้างระบบการวัดผลในเชิงคุณค่าร่วม
ในแง่ของการเฟ้นหาและบ่มเพาะบุคลากรให้มีไฟและมีพลังนำการขับเคลื่อนเรื่อง CSV มีข้อพิจารณาตั้งแต่การสร้างแรงจูงใจหรือให้สิ่งจูงใจในรูปแบบที่เหมาะสมแก่พนักงาน การพัฒนาบ่มเพาะความรู้ สมรรถภาพ และภาวะผู้นำ รวมถึงการเฟ้นหาบุคลากรที่มีความสามารถโดดเด่นในเรื่องดังกล่าวเข้ามาร่วมงาน
หลังจากที่ได้ดำเนินการจัดวางเงื่อนไขสนับสนุนหรือสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดขึ้นแล้ว ข้อพิจารณาต่อมา คือ การจัดวางองค์ประกอบที่ช่วยในการออกแบบความริเริ่มหรือแผนงานในการสร้างคุณค่าร่วม ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนากรณีทางธุรกิจ การเข้าร่วมกับหุ้นส่วนดำเนินการภายนอก การกำหนดกิจกรรมและเม็ดเงินลงทุน การจัดโครงสร้างทรัพยากรในองค์กร การกำหนดตัวชี้วัดผลลัพธ์ทางธุรกิจและทางสังคม
ทั้งนี้ การที่องค์กรจะสามารถจัดวางองค์ประกอบสำหรับความริเริ่มหรือแผนงานในการสร้างคุณค่าร่วม องค์กรจำเป็นที่จะต้องทราบหรือกำหนดระดับการสร้างคุณค่าร่วมที่ประสงค์จะดำเนินการ โดยพิจารณาจากความพร้อมของทรัพยากรและเงื่อนไขที่องค์กรมีอยู่ในขณะนั้นว่าสอดคล้องกับระดับของการคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นความต้องการของสังคมขึ้นใหม่ หรือระดับของการยกระดับผลิตภาพในห่วงโซ่ธุรกิจ หรือระดับของการสร้างปัจจัยสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นที่เอื้อต่อการประกอบการ
เมื่อองค์กรสามารถกำหนดระดับการสร้างคุณค่าร่วมที่จะดำเนินการ สิ่งที่จะต้องคำนึงถึงในขั้นต่อไป คือ การระบุตัวชี้วัดที่เป็นผลลัพธ์ทั้งในเชิงธุรกิจและในเชิงสังคมของความริเริ่มหรือแผนงานที่สอดคล้องกับระดับการสร้างคุณค่าร่วมที่เลือกดำเนินการ
ในบริบทของการสร้างคุณค่าร่วม ตัวชี้วัดที่เป็นผลลัพธ์เชิงสังคมจะใช้เป็นตัวตัดสินใจหรือตอบโจทย์การลงทุนในความริเริ่มหรือแผนงานที่องค์กรได้ออกแบบเพื่อดำเนินการ โดยผลได้ในเชิงสังคมที่เกิดขึ้นจะใช้เป็นตัวเหนี่ยวนำให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงธุรกิจตามมาด้วย
[ประชาชาติธุรกิจ]