มองเทรนด์ซีเอสอาร์ปี′57 ยกระดับองค์กรร่วมขับเคลื่อนสังคม
ปัญหาการเมืองไทยที่ยืดเยื้อมาร่วม 4 เดือน ยิ่งนานวัน ยิ่งมีพัฒนาการความรุนแรงของเหตุการณ์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และไม่มีทีท่าว่าจะจบลงในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าขบคิดว่าจากปัญหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้น ในมิติของซีเอสอาร์นั้น ภาคธุรกิจจะเป็นฟันเฟืองเกื้อหนุนการดูแลสังคมอย่างไร
จึงเป็นที่มาของธีมงานแถลงทิศทางซีเอสอาร์ประจำปี 2557 ที่จัดโดยสถาบันไทยพัฒน์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้คำว่า "Corporate Citizenship" ซึ่งเป็นการขมวดบทบาทขององค์กรธุรกิจในฐานะพลเมืองภาคองค์กรที่ต้องมีหน้าที่ร่วมและช่วยกันแก้ปัญหาสังคม
"ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ" ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ฉายภาพต่อเนื่องจากธีมงานมาถึงเทรนด์ซีเอสอาร์ปี 2557 ในทิศทางแรกคือ ธุรกิจจะเข้ามามีบทบาทของการร่วมปฏิรูปสังคมไทยในฐานะพลเมืองของภาคองค์กร โดยเฉพาะเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นประเด็นที่มีปัญหาเรื้อรังมายาวนาน และเป็นหนึ่งในวาระหลักของการปฏิรูป โดยล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีแผนพัฒนาความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใน 3 เรื่อง ได้แก่
หนึ่ง | CG in Substance คณะกรรมการและผู้บริหารบริษัทสร้าง Performance ที่ดีให้กิจการอย่างยั่งยืน น่าเชื่อถือ เน้นการปฏิบัติอย่างจริงจัง |
สอง | CSR in Process การผนวกซีเอสอาร์เข้าไปอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจ |
สาม | Anti-Corruption in Practice ถึงแม้หลายองค์กรได้ประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านคอรัปชั่น แต่สิ่งที่ ก.ล.ต.ต้องการเห็นคือการนำไปภาคปฏิบัติอย่างจริงจัง |
"ก.ล.ต.ยังได้เสนอให้ บจ.เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานเกี่ยวกับการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น โดยมีข้อแนะนำว่าการเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้ควรแยกเป็นหัวข้อต่างหากจากซีเอสอาร์ คือเขียนให้เห็นชัดเจนว่าบริษัทมีแนวทางต่อต้านหรือป้องกันด้านคอร์รัปชั่นอย่างไร"
สำหรับเทรนด์ที่สองคือ ธุรกิจจะเพิ่มน้ำหนักความสำคัญมาที่ "สาระ" ของการดำเนินงาน และการรายงานซีเอสอาร์มากขึ้น ทำให้เห็นแนวโน้มการเปิดเผยข้อมูลซีเอสอาร์ตามกรอบรายงานสากล และตามประกาศเรื่องการเปิดเผยข้อมูลซีเอสอาร์ของ ก.ล.ต. และปีนี้องค์กรธุรกิจจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถในการเลือกเรื่องที่จะดำเนินการ โดยเน้นที่สารัตถภาพ (Materiality) ของประเด็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
"แนวทางที่ทำให้รู้ว่าซีเอสอาร์ทำมาถูกทางหรือไม่ สามารถพิจารณาได้ตามกรอบของ GRI (Global Reporting Initiative) หรือ IIRC (The International Integrated Reporting Council) โดยจะให้ความสนใจว่าการที่องค์กรจะทำซีเอสอาร์ ต้องพิจารณาก่อนว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นเรื่องที่องค์กรควรทำจริง ๆ หรือทำแล้วสามารถตอบโจทย์องค์กรและสังคมได้ โดย IIRC ระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องซีเอสอาร์หรือความยั่งยืน สิ่งสำคัญที่สุดคือจะต้องก่อให้เกิดการสร้างคุณค่ากับองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย"
"ดร.พิพัฒน์" กล่าวต่อถึงเรื่องเส้นแบ่งของซีเอสอาร์ระหว่างองค์กรกับองค์กรข้างเคียงในห่วงโซ่ธุรกิจจะเลือนรางลง ซึ่งเป็นเทรนด์ที่สามอันแสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานซีเอสอาร์จากนี้ไป จะไม่ขึ้นอยู่กับสมรรถนะขององค์กรเพียงลำพัง แต่เชื่อมโยงกับสมรรถนะของคู่ค้า และครอบคลุมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นในห่วงโซ่ธุรกิจ ทำให้เกิดการลดทอนตัวตนหรือสภาพขององค์กรลง เพราะองค์กรไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดขึ้น ด้วยการผลักภาระให้พ้นจากเขตความรับผิดชอบของตนได้
พร้อมกันนั้นยังยกตัวอย่างว่า ตามปกติแล้ว การทำรายงานประจำปีของบริษัทจะเปิดเผยข้อมูลด้านการดำเนินธุรกิจเป็นสำคัญ และเกี่ยวข้องกับบริษัท เช่น บริษัทแม่, บริษัทย่อย หรือบริษัทที่องค์กรเข้าไปลงทุน แต่เมื่อเป็นการรายงานด้านซีเอสอาร์ จะขยายขอบเขตการรายงานครอบคลุมไปถึงพนักงาน, ลูกค้า, คู่ค้า, ชุมชน และอื่น ๆ อันกล่าวได้ว่าการขับเคลื่อนเรื่องซีเอสอาร์ต้องตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้ด้วย
ต่อมาเป็นเทรนด์ที่สี่ คือ แผนงานซีเอสอาร์จะถูกยกระดับสู่การพัฒนาซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์ที่เชื่อมร้อยกับยุทธศาสตร์ขององค์กร ซึ่งเป็นเรื่องทื่เชื่อมโยงกับการขับเคลื่อน CSR in Process โดยการผนวกเรื่องซีเอสอาร์เข้ากับองค์กรมี 3 ระดับ ระดับแรกจะเป็นลักษณะของการมีแผนงาน หรือมีแผนกซีเอสอาร์ในองค์กร และมอบหมายให้แผนกนั้น ๆ รับผิดชอบ ส่งผลให้ซีเอสอาร์ขององค์กรอาจเคลื่อนไหวอยู่ในแนวจำกัด
หากต้องการยกระดับขึ้นมาอีกสเต็ป องค์กรจะเริ่มพัฒนากลยุทธ์ซีเอสอาร์ โดยบางบริษัทจะมีแผนแม่บทซีเอสอาร์ หรือกลยุทธ์ซีเอสอาร์แยกต่างหากจากกลยุทธ์องค์กร ส่วนระดับสูงสุดจะเป็นการนำเรื่องซีเอสอาร์มาผนวกกับกลยุทธ์องค์กร รูปธรรมของระดับนี้อาจไม่เห็นว่าองค์กรมีแผนแม่บทหรือกลยุทธ์ซีเอสอาร์แยกต่างหาก แต่จะผสมผสานซีเอสอาร์เป็นเนื้อเดียวกันกับกลยุทธ์องค์กร จึงทำให้ซีเอสอาร์ถูกถ่ายทอดลงมาทั่วทั้งองค์กร
"ดร.พิพัฒน์" พูดถึงทิศทางถัดมาซึ่งเกี่ยวกับแนวคิดการสร้างคุณค่าร่วมจะถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในธุรกิจเพื่อตอบโจทย์สังคมเพิ่มมากขึ้น โดยอ้างอิงถึง "Michael E. Porter" เจ้าสำนักทางด้านการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันและห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งมีแนวคิดพัฒนาการของบทบาทของธุรกิจที่มีต่อสังคมว่าเริ่มจากการบริจาค และเรื่องอาสาสมัคร ต่อมาคือเป็นซีเอสอาร์ ที่บริษัทต้องทำตามกฎหมาย ยอมรับกฎกติกาของสังคมนั้น ๆ และเป็นพลเมืองที่ดี อันนำไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งบทบาทของซีเอสอาร์จะช่วยให้องค์กรลดความเสี่ยง และเป็นเครื่องมือในการสร้างความเชื่อมั่น ชื่อเสียง และภาพลักษณ์
"อย่างไรก็ตาม Michel ได้พัฒนามาสู่เรื่อง CSV เป็นการตอบโจทย์สังคมด้วย Business Model หมายความว่าเป็นเรื่องของการทำธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องการตอบแทนให้กับสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทนกลับคืนมา โดย Michel บอกว่าเป็นการนำวิถีทุนนิยมมาแก้ปัญหาสังคม"
สำหรับทิศทางสุดท้ายคือ ธุรกิจจะมีการจัดทำนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว เพื่อแสดงถึงซีเอสอาร์ในประเด็นสิ่งแวดล้อม หลายองค์กรเริ่มปรับปรุงเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้าง โดยให้ความสำคัญกับ 3 เรื่อง ได้แก่ 1) การพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์ (สินค้าและบริการ) ที่มีวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2) การคำนึงถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟธรรมดามาเป็นหลอดไฟ LED หรือการใช้พลังงานทดแทน 3) การป้องกันมลพิษ ทั้งระหว่างกระบวนการการผลิตผลิตภัณฑ์ขององค์กร และพิจารณาว่าผลิตภัณฑ์ที่บริษัทจัดซื้อจัดจ้างต้องมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย
โดยทิศทางนี้ยังถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่องค์กรสามารถกล่าวได้ว่า บริษัทมีซีเอสอาร์ทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
[Original Link]