Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

เทรนด์ธุรกิจต้านทุจริต


เรื่องการต่อต้านทุจริต ได้ถูกบรรจุเป็นประเด็นหลักหนึ่งของ CSR ในทุกมาตรฐานและแนวปฏิบัติทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ การที่องค์กรธุรกิจประกาศว่าตนเองทำ CSR จะหมายรวมถึง การดำเนินเรื่องต่อต้านทุจริตในองค์กรด้วย ซึ่งหากองค์กรไหนไม่มีหรือไม่ได้ทำเรื่องต้านทุจริตจริงจัง แสดงว่าองค์กรนั้นไม่ได้มีหรือไม่ได้ทำ CSR อย่างจริงจัง

ทั้งหลักการใน UN Global Compact หรือเรื่องหลักในมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO26000 หรือในแนวปฏิบัติของธุรกิจข้ามชาติที่ออกโดย OECD หรือในกรอบการรายงานความยั่งยืนของ GRI ที่เป็นองค์กรระดับนานาชาติ เรื่อยมาถึงแนวปฏิบัติของบริษัทจดทะเบียนที่ออกโดยสำนักงาน ก.ล.ต. แนวทาง CSR ของบริษัทที่ออกโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ของไทย ล้วนแล้วแต่พูดถึงการต่อต้านทุจริตว่าเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของ CSR

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เรื่องการต่อต้านทุจริต น่าจะกลายเป็นเทรนด์หลักของปี
ประการแรก คือ จำนวนของบริษัทที่มีการประกาศเจตนารมณ์เข้าเป็นแนวร่วมปฏิบัติ (Collective Action Coalition) ของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตที่ดำเนินงานโดย 8 องค์กรนำโดย IOD จากในปี 53 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้น มีจำนวน 27 บริษัทที่เข้าร่วม มาเป็น 56 บริษัทในปี 54 และเพิ่มเป็น 152 บริษัทในปี 55 และปัจจุบันมีบริษัทที่เข้าร่วมแล้วราว 300 บริษัท ถือว่าเป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญ

ประการที่สอง เนื่องจากปีนี้จะเป็นปีแรกที่บริษัทจดทะเบียนจะต้องดำเนินการเปิดเผยข้อมูลตามมาตรา 56 แห่ง พรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และการจัดทำแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ที่ต้องจัดส่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่ โดยหลักเกณฑ์ใหม่นี้ ได้เพิ่มเติมการเปิดเผยข้อมูลในหัวข้อ CSR และได้มีข้อแนะนำให้บริษัทเปิดเผยการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันมิให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทและบริษัทย่อย มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นเป็นหัวข้อแยกต่างหาก

สิ่งที่องค์กรธุรกิจสามารถดำเนินการได้ในวิสัยของตนเอง คือ การเตรียมและจัดการองค์กรตนเองให้พร้อมทำเรื่องต้านทุจริต ซึ่งมีอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน

ส่วนแรก เป็นเรื่องคำมั่นและนโยบาย (Commitment and Policy) จากผู้บริหารสูงสุดและในนามองค์กรโดยมติคณะกรรมการบริษัทต่อการดำเนินธุรกิจที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น ส่วนที่สอง เป็นการนำไปปฏิบัติ (Implementation) โดยเริ่มจากองค์กรตนเองและมีการดำเนินการที่เป็นแบบอย่างจากผู้นำองค์กรในลักษณะที่เป็น Action-Oriented นอกเหนือจากการให้คำมั่นและการประกาศเจตนารมณ์ และส่วนที่สาม เป็นการติดตามผล (Monitoring) โดยมีการดูแลให้มีการดำเนินการตามนโยบายและมีการทบทวนความเหมาะสมของนโยบายโดยคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อยทุกปี

ในส่วนของสถาบันไทยพัฒน์ บทบาทในการขับเคลื่อน CSR ที่สนับสนุนเรื่องการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นขององค์กรธุรกิจ ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่กลางปี 53 ด้วยการเข้าร่วมขับเคลื่อนสมัชชาคุณธรรมทั้ง 4 ภาคในประเด็นธุรกิจ (CSR) และศาสนา มีองค์กรภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมถกในประเด็น CSR นับรวมได้ 64 แห่ง ตกผลึกออกมาเป็นหลักการ 4 ข้อ

อาทิ การปรับทัศนคติที่เห็นว่าการทำธุรกิจด้วยคุณธรรมจริยธรรมจะทำให้สูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขัน และการมุ่งขจัดค่านิยมในทางที่ส่งเสริมการทุจริตคอร์รัปชั่นในหมู่ธุรกิจ บรรจุอยู่ภายใต้กรอบแนวทางที่เรียกว่า “การทำงานวิถีกลุ่ม” หรือ Collective Action และได้มีการพัฒนาเป็นข้อเสนอมอบให้กับรัฐบาลในสมัยนั้น ผ่านทางเวที “Thailand Competitiveness Conference 2010” ซึ่งมี TMA เป็นแม่งานหลัก

การขับเคลื่อนในช่วงนั้นไปสอดรับกับสิ่งที่คุณชาญชัย จารุวัสตร์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการ IOD เริ่มจัดทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้นำธุรกิจภาคเอกชนเกี่ยวกับการสร้างแนวร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชั่น จนได้ก่อตั้งเป็นโครงการ Collective Action Coalition against Corruption ขึ้นในปลายปี 2553

ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ กำลังดำเนินการพัฒนาเครื่องมือประเมินการต่อต้านทุจริต สำหรับเป็นตัวช่วยให้บริษัทที่กำลังอยู่ในโหมดของการนำไปปฏิบัติ ได้มีแนวทางในการดำเนินการอย่างเป็นระบบ

เพราะที่ผ่านมา มีเสียงสะท้อนจากบริษัทที่ประสงค์จะทำเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร หรือมีวิธีและขั้นตอนดำเนินงาน หนึ่ง สอง สาม สี่ อะไรบ้าง เครื่องมือชิ้นนี้จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้บริษัทมีข้อมูลและแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และคาดว่าจะสามารถนำมาใช้ได้ภายในเร็วๆ นี้


[Original Link]