สร้างตัวช่วยความยั่งยืน
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (6 พ.ค.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสถาบันไทยพัฒน์ ได้ร่วมกันจัดแถลงข่าว “โครงการประเมินระดับการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทย” ด้วยการจัดทำดัชนีชี้วัดเพื่อประเมินระดับการพัฒนาด้าน CSR และ Anti-corruption สำหรับบริษัทจดทะเบียน เป็นครั้งแรกของไทย
อาจกล่าวได้ว่า CSR และ Anti-corruption เป็นปัจจัยหลักสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาความยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมา ทั้งสำนักงาน ก.ล.ต. และสถาบันไทยพัฒน์ ต่างก็มีพันธกิจและการขับเคลื่อนงานที่ต้องการส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนให้มีการพัฒนาเพื่อยกระดับการดำเนินงานสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ก.ล.ต. ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียนระยะ 5 ปี (พ.ศ.2557-2561) โดยการพัฒนาความยั่งยืนในส่วนที่เกี่ยวกับ CSR และ Anti-corruption จะมีการจัดทำ CSR Progress Indicator และ Anti-corruption Progress Indicator เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาปรับปรุงการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม และใช้เป็นกลไกเสริมการพัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทจดทะเบียนในภาพรวม
สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานด้านวิชาการ ซึ่งทำหน้าที่ช่วยเหลือสนับสนุนการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ได้จัดทำรูปแบบการประเมินระดับการรายงานความยั่งยืน เมื่อปี 2556 และได้นำมาใช้ในโครงการประกาศรางวัลรายงานแห่งความยั่งยืน เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการจัดทำรายงานความยั่งยืนและการเปิดเผยข้อมูลด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
โดยในปี 2557 สถาบันไทยพัฒน์มีแผนที่จะพัฒนาต่อยอดรูปแบบการประเมินดังกล่าวจากการประเมินระดับการรายงานความยั่งยืน (สิ่งที่เปิดเผย) ให้ครอบคลุมการประเมินระดับการพัฒนาความยั่งยืน (สิ่งที่ดำเนินการ) ด้วย
ด้วยพันธกิจและแผนงานที่สอดคล้องกัน สำนักงาน ก.ล.ต. จึงสนับสนุนให้สถาบันไทยพัฒน์ดำเนินการพัฒนารูปแบบการประเมินระดับการพัฒนาความยั่งยืนที่อ้างอิงจากกรอบการดำเนินงานที่เป็นมาตรฐานสากลเป็นครั้งแรกของไทย เพื่อใช้ประเมินระดับการพัฒนาทั้ง 2 ด้าน ได้แก่ CSR Progress Indicator และ Anti-corruption Progress Indicator โดยจะแสดงระดับการพัฒนาตั้งแต่ระดับเริ่มต้นจนถึงระดับสูงสุดของการพัฒนาด้วยการใช้สเกล 0-5
การประเมินระดับการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทยด้วยตัวชี้วัด CSR และ Anti-corruption จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกบริษัทจดทะเบียนที่สามารถนำข้อมูลระดับการพัฒนาของตนเอง ไปใช้ประกอบการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ ดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยรอบ ตั้งแต่ระดับกิจการสู่ระดับชุมชน ระดับสังคม ในอันที่จะส่งผลให้กิจการมีความยั่งยืน
ความคาดหวังในช่วงแรกของโครงการ อยู่ที่การส่งเสริมให้บริษัทได้ตระหนักในความสำคัญและพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทิศทางที่ทำให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริงตามศักยภาพของแต่ละบริษัท และคาดว่าในปี 2557 จะมีการพัฒนาการอย่างน้อยในระดับเริ่มต้นหรือระดับที่ 1 หมายถึงบริษัทมีเจตนารมณ์ในการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และสามารถสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบ ทั้งนี้ ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ยังสามารถนำผลประเมินมาใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน โดยผลการประเมินคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 และจะเผยแพร่บนเว็บไซต์ของ ก.ล.ต.
ที่สำคัญ บริษัทจดทะเบียนสามารถนำผลการประเมินไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนพัฒนาปรับปรุงการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาแนวทางและมาตรการในการสนับสนุนการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับกรอบหรือมาตรฐานที่เป็นสากล ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลรายละเอียดของโครงการเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ www.thaicsr.com
[กรุงเทพธุรกิจ]