Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับการจัดทำข้อมูลและการประเมิน


บจ. ที่ยังอยู่ในระหว่างเพิ่งเริ่มดำเนินการในเรื่อง CSR และ Anti-corruption หรือที่ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ยังมิได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาเปิดเผยอย่างเป็นระบบ จะมีข้อแนะนำในการตอบแบบแสดงข้อมูลเพื่อการประเมินอย่างไร
เหตุใดต้องให้เลือกอ้างอิงเอกสารเพียงแบบใดใบหนึ่ง เพราะในความเป็นจริง เนื้อหาบางเรื่องอาจอยู่ในเอกสารหนึ่ง อีกเนื้อหาหนึ่งอาจอยู่ในอีกเอกสารหนึ่งก็ได้
แบบแสดงข้อมูลเพื่อการประเมิน CSR และแบบแสดงข้อมูลเพื่อการประเมิน Anti-corruption ที่ส่งให้ บจ. ตอบ นำไปเป็นข้อมูลสำหรับการให้คะแนนประเมินร่วมกันหรือไม่
บจ. ที่ยังมิได้ส่งแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) เนื่องจากรอบการปิดบัญชี มิได้กำหนดไว้ตรงกับวันสิ้นปีปฏิทิน (31 ธันวาคม) จะต้องส่งแบบแสดงข้อมูลเพื่อการประเมินอย่างไร

 


บจ. ที่ยังอยู่ในระหว่างเพิ่งเริ่มดำเนินการในเรื่อง CSR และ Anti-corruption หรือที่ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ยังมิได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาเปิดเผยอย่างเป็นระบบ จะมีข้อแนะนำในการตอบแบบแสดงข้อมูลเพื่อการประเมินอย่างไร

โครงการประเมินระดับการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน ไม่ได้จัดทำคะแนนในลักษณะ Scoring เป็นระดับ A, B, C, … ที่มุ่งเทียบระหว่างบริษัท หรือใช้เป็นตัวบ่งชี้ผลลัพธ์การดำเนินงาน (Result Indicator) แต่จะเป็นการจัดทำคะแนนในลักษณะ Progress Indicator ระดับ 1-5 ที่เน้นการสะท้อนความคืบหน้าของการดำเนินงานในเชิงที่เอื้อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เทียบกับการดำเนินงานที่ผ่านมาขององค์กรตนเอง

สำหรับ บจ. ที่เพิ่งเริ่มดำเนินการ หรือได้ดำเนินการแต่ยังขาดข้อมูลที่จะนำมาเปิดเผย ก็ให้ระบุข้อมูลในแบบแสดงข้อมูลเพื่อการประเมินเท่าที่ได้เปิดเผยไว้ตามจริง โดยหากอ้างอิงตามตามแผนพัฒนาความยั่งยืนสำหรับ บจ. ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2557-2561) ของสำนักงาน ก.ล.ต. เส้นทางการพัฒนาหรือ Roadmap ในปีแรก (พ.ศ.2557) คาดหวังว่า บจ. สามารถเปิดเผยข้อมูลเท่าที่ทำอยู่แล้ว ซึ่งเทียบได้กับการพัฒนาอย่างน้อยในระดับ 1 ขึ้นไป คือการได้เริ่มมีนโยบายและเปิดเผยข้อมูลในเรื่องดังกล่าวแล้ว

 


เหตุใดต้องให้เลือกอ้างอิงเอกสารเพียงแบบใดใบหนึ่ง เพราะในความเป็นจริง เนื้อหาบางเรื่องอาจอยู่ในเอกสารหนึ่ง อีกเนื้อหาหนึ่งอาจอยู่ในอีกเอกสารหนึ่งก็ได้

เดิมที เครื่องมือประเมินความยั่งยืนฯ นี้ จะใช้ข้อมูลจากแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ฉบับเดียว เพราะจุดมุ่งหมายหนึ่งของการใช้เครื่องมือนี้ ก็เพื่อส่งเสริมให้ บจ. ได้จัดทำข้อมูล CSR ในแบบ 56-1 ให้เป็นไปตามรายการที่กำหนดไว้อย่างครบถ้วน และตามประกาศของสำนักงานฯ ข้อมูลที่เปิดเผยในรายงานประจำปี (แบบ 56-2) ก็ให้ใช้คำอธิบายตามที่ระบุในแบบ 56-1 ด้วยเช่นกัน ส่วน บจ. ที่มีการจัดทำรายงานแยกเล่มไว้ ตามประกาศของสำนักงานฯ ได้เปิดโอกาสให้ บจ. สามารถอ้างอิงไปยังรายงานที่จัดทำแยกเล่มที่เปิดเผยไว้ได้ โดยไม่ต้องสรุปรายละเอียดไว้ภายใต้หัวข้อ CSR ในแบบ 56-1 ซ้ำอีก

แต่เนื่องจากมี บจ. ที่จัดทำรายงานประจำปี หรือรายงานในรูปแบบอื่น มีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมจากที่ได้แสดงไว้ในแบบ 56-1 และอาจมิได้ใช้วิธีอ้างอิงในแบบ 56-1 ไปยังรายงานฉบับนั้น จึงได้เพิ่มทางเลือกให้ บจ. สามารถอ้างอิงเอกสารฉบับที่ บจ. เห็นว่า ประกอบด้วยข้อมูลตามรายการแบบแสดงข้อมูลเพื่อการประเมิน CSR อย่างครบถ้วนที่สุด

ดังนั้น เอกสารที่ใช้อ้างอิงตำแหน่งที่อยู่ของข้อมูล เพื่อการระบุเลขหน้าเอกสาร บจ. สามารถเลือกได้เพียงแบบใดแบบหนึ่ง จากแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) หรือรายงานประจำปี (แบบ 56-2) หรือในรายงานอื่น ที่บริษัทแน่ใจว่าประกอบด้วยข้อมูลตามรายการอย่างครบถ้วนที่สุด

 


แบบแสดงข้อมูลเพื่อการประเมิน CSR และแบบแสดงข้อมูลเพื่อการประเมิน Anti-corruption ที่ส่งให้ บจ. ตอบ นำไปเป็นข้อมูลสำหรับการให้คะแนนประเมินร่วมกันหรือไม่

การประเมินความความคืบหน้าในเรื่อง CSR และการประเมินความความคืบหน้าในเรื่อง Anti-corruption จะใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกัน และจะแสดงผลการประเมินแยกเป็นตัวชี้วัด 2 ตัว คือ ความคืบหน้าในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR progress indicator) และความคืบหน้าในเรื่องการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน (Anti-corruption progress indicator) การระบุเอกสารและตำแหน่งของข้อมูล CSR และ Anti-Corruption ในแบบแสดงข้อมูลเพื่อการประเมิน CSR และแบบแสดงข้อมูลเพื่อการประเมิน Anti-corruption จึงใช้เป็นข้อมูลสำหรับการพิจารณาแยกต่างหากจากกันด้วยเกณฑ์ที่ต่างกัน ทั้งนี้ บจ. สามารถศึกษา ‘ข้อแนะนำในการตอบแบบแสดงข้อมูลเพื่อการประเมิน’ ได้จาก ‘คู่มือจัดทำแบบแสดงข้อมูลเพื่อการประเมิน’ ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ www.thaicsr.com

 


บจ. ที่ยังมิได้ส่งแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) เนื่องจากรอบการปิดบัญชี มิได้กำหนดไว้ตรงกับวันสิ้นปีปฏิทิน (31 ธันวาคม) จะต้องส่งแบบแสดงข้อมูลเพื่อการประเมินอย่างไร

สำหรับ บจ. ที่มีรอบการปิดบัญชีไม่ตรงกับวันสิ้นปีปฏิทินและยังมิได้ส่งแบบ 56-1 สำหรับข้อมูลประจำปี 2556 ให้ส่งแบบแสดงข้อมูลเพื่อการประเมินพร้อมกับแบบ 56-1 หรือไม่เกิน 15 วันนับจากวันส่งแบบ 56-1 ตามช่องทางที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้แจ้งไว้