เลียบเวที CG นานาชาติ
ผมได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมประชุมประจำปีของ International Corporate Governance Network (ICGN) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ภายใต้ธีมที่มีชื่อว่า “Expectations of investors and companies in the face of 21st century challenges”
สถานที่จัดงานประชุมปีนี้ คือ อาคารที่เคยใช้ทำการเป็นตลาดหลักทรัพย์อัมสเตอร์ดัม ซึ่งสร้างในคริสต์ศักราชที่ 16 หรือเมื่อ 400 กว่าปีมาแล้ว และได้ชื่อว่าเป็นตลาดหุ้นแห่งแรกของโลก ปัจจุบันตลาดหุ้นอัมสเตอร์ดัม ได้รวมกับตลาดหุ้นของเบลเยียม ฝรั่งเศส อังกฤษ และโปรตุเกส ก่อตั้งเป็นตลาด Euronext และได้ควบรวมกับตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็น NYSE Euronext ในปี ค.ศ. 2007
ICGN ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1995 ปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิกที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ลงทุนประเภทสถาบันและนักวิชาชีพด้านบรรษัทภิบาลจากกว่า 50 ประเทศ ดูแลเม็ดเงินลงทุนรวมกันกว่า 18 ล้านล้านเหรียญกระจายอยู่ทั่วโลก
กิจกรรมหลักของ ICGN ประกอบด้วย กิจกรรมการผลักดันนโยบายด้านบรรษัทภิบาลผ่านทางการจัดทำหลักการ แนวปฏิบัติ และกรอบการดำเนินงานที่เกี่ยวกับบรรษัทภิบาลในด้านต่างๆ อาทิ ค่าตอบแทนกรรมการ/ผู้บริหาร ความเสี่ยงองค์กร การต่อต้านการทุจริต การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินและที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน ฯลฯ กิจกรรมการเชื่อมร้อยผู้ปฏิบัติงานในวิชาชีพที่เกี่ยวกับบรรษัทภิบาล และกิจกรรมการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านบรรษัทภิบาลผ่านทางการประชุม สัมมนา ฝึกอบรม ฯลฯ
ในสมัยการประชุมนี้ ได้มีการประกาศหลักการฉบับใหม่ที่ชื่อว่า ICGN Global Governance Principles ซึ่งปรับปรุงจากหลักการฉบับปี ค.ศ. 2009 โดยปรับชื่อจากเดิม คือ “Global Corporate Governance Principles” เป็น “Global Governance Principles” เพื่อให้สะท้อนบทบาทการกำกับดูแล ที่ไม่จำกัดเพียงความรับผิดชอบของบริษัท แต่มุ่งครอบคลุมถึงความรับผิดชอบในส่วนของผู้ลงทุน (โดยเฉพาะผู้ลงทุนประเภทสถาบัน) ไว้ในหลักการฉบับเดียวกัน
หลักการฉบับใหม่นี้ ให้ความสำคัญกับเจตจำนงของบริษัทต่อการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยในส่วนของบริษัทได้แนะนำให้คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่ติดตามงานกำกับดูแล ที่รวมถึงการดำเนินกิจการที่มีส่วนเกี่ยวพันกับปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมให้เกิดประสิทธิผล คำนึงถึงการดูแลความเสี่ยงองค์กรที่ครอบคลุมถึง ความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากความเสี่ยงทางการเงิน ความเสี่ยงทางกลยุทธ์ และความเสี่ยงจากการดำเนินงาน
ในส่วนของผู้ลงทุน ได้เพิ่มเติมหลักการที่แนะนำให้ผู้ลงทุนประเภทสถาบันติดตามการดำเนินกิจการที่มีส่วนเกี่ยวพันกับปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพิ่มการสานสัมพันธ์ในเชิงรุก เพื่อขยายความเข้าใจและเห็นพ้องร่วมกันในจุดยืนที่มีต่อกลยุทธ์องค์กร ตัวเลขผลประกอบการ ความเสี่ยงต่อผลประกอบการในระยะยาว การกำกับดูแลกิจการ การดำเนินงาน และแนวดำเนินการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (ดูหลักการฉบับใหม่ได้จากเว็บไซต์ www.icgn.org)
หนึ่งในช่วงการประชุมที่น่าสนใจ คือ คณะผู้อภิปรายระดับเจ้าสำนักขององค์กร ที่เป็นผู้จัดทำหลักการเปิดเผยข้อมูล หรือกรอบการรายงานชั้นนำอย่าง Global Reporting Initiative (GRI), International Integrated Reporting Council (IIRC), International Accounting Standards Board (IASB) และศาสตราจารย์ผู้เขียนตำราเรื่อง One Report จาก Harvard Business School มานำเสนอพัฒนาการของรายงานและการเปิดเผยข้อมูลล่าสุด และยังเป็นโอกาสที่มีการเปิดตัว Corporate Reporting Dialogue (CRD) ในการประชุมนี้ เพื่อแสวงหาความเชื่อมโยงระหว่างมาตรฐาน และกรอบการรายงานที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เกิดความสอดคล้องต้องกัน ลดภาระยุ่งยากที่อาจเกิดแก่องค์กรที่จัดทำรายงานต่อการใช้และอ้างอิงมาตรฐานและกรอบการรายงานหลายฉบับ
หลังการประชุม ผมถือโอกาสอยู่เรียนหนังสือต่ออีก 2 วันในหลักสูตร “Integrating environmental, social and governance factors in investment decisions” ที่พัฒนาขึ้นสำหรับผู้ลงทุนที่เป็นสมาชิกของ ICGN เพื่อช่วยให้ผู้เข้าอบรมเรียนรู้วิธีในการระบุ วิเคราะห์ และผนวกข้อมูล ESG ในกระบวนการตัดสินใจลงทุน โดยวิทยากรจาก CalPERS, apg Asset Management, ROBECO เป็นต้น เป็นมุมมองของผู้ลงทุนที่มีทั้งความเหมือนและความต่างจากมุมมองขององค์กร ในการคำนึงถึงปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม แล้วจะหาโอกาสนำมาเล่าให้ฟังกันนะครับ
[Original Link]