Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

CSR ทำแค่ไหนถึงจะพอ ?

สุธิชา เจริญงาม

การดำเนินงาน CSR ที่ไม่ประสบผล มีส่วนที่เกิดจากการกำหนดรูปแบบของการทำงานที่ไม่เหมาะสมกับประเด็นที่บริษัทต้องดำเนินการ และมีส่วนที่เกิดจากความไม่ครอบคลุมของการดำเนินการในประเด็นที่อาจต้องไปเกี่ยวข้องกับหน่วยงานภายนอกองค์กร ซึ่งไม่สามารถทำให้สัมฤทธิผลได้ด้วยการดำเนินงานภายในองค์กรเพียงลำพัง

การกำหนดรูปแบบ และขอบเขตการดำเนินงานที่สอดคล้อง และตอบสนองต่อคุณลักษณะของประเด็นที่บริษัทต้องดำเนินการ จึงเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นตัวแปรที่ทำให้การดำเนินงาน CSR ประสบผลสำเร็จ อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงจากการดำเนินงานที่กระทบต่อภาพลักษณ์องค์กร ความขัดแย้งกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และความสูญเปล่าในทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่จำกัด

รูปแบบของการดำเนินงาน มีความสัมพันธ์กับระดับของการดำเนินงานที่บริษัทเลือกดำเนินการ หากเจตนารมณ์ของบริษัทต้องการดำเนินงานให้เป็นไปตามกฎหมาย และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องมีการดูแลผลกระทบจากการดำเนินงานไม่ให้เกิดปัญหากับชุมชนที่อยู่รายรอบแหล่งดำเนินงาน หรือกับสังคมในส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบการ การดำเนินงานมักใช้รูปแบบของพลเมืองภาคองค์กรที่ดี (Good Corporate Citizen) ด้วยการบรรเทาผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้น หรือที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากกิจกรรมทางธุรกิจของตน การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในรูปแบบนี้ จะยึดบรรทัดฐานที่เป็นข้อกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรฐาน หรือข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคม

หากเจตนารมณ์ของบริษัทต้องการเปิดโอกาสให้ชุมชน และสังคมมีส่วนร่วมในการดำเนินงานในฝั่งต้นน้ำ หรือในฝั่งปลายน้ำของห่วงโซ่ธุรกิจ การดำเนินงานมักใช้รูปแบบที่เป็น CSR เชิงกลยุทธ์ ที่สามารถยกระดับไปสู่การสร้างให้เกิดคุณค่าร่วม (Creating Shared Value) ระหว่างกิจการ และสังคม การดำเนินงานในรูปแบบนี้ องค์กรจะมีอิสระในการคัดเลือกประเด็นทางสังคมร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มเป้าหมาย สามารถกำหนดจุดยืนของการดำเนินงานให้แตกต่างจากองค์กรอื่น ซึ่งจะช่วยเสริมหนุนขีดความสามารถทางการแข่งขันขององค์กรในระยะยาว

ขอบเขตของการดำเนินงานมีความครอบคลุมใน 2 ระดับ ระดับภายในองค์กรที่ประกอบด้วย บริษัทแม่ บริษัทย่อย สาขา ธุรกิจร่วมค้า หรือกิจการที่องค์กรเป็นเจ้าของหรือมีอำนาจควบคุมดูแล กับระดับภายนอกองค์กรที่ประกอบด้วย ผู้ส่งมอบ ผู้จัดจำหน่าย ผู้บริโภค หรือหน่วยงานที่องค์กรทำได้เพียงชี้นำ หรือส่งทอดอิทธิพลเพื่อให้เกิดการดำเนินการโดยสมัครใจ

ขอบเขตของประเด็นที่บริษัทดำเนินการ อาจจำกัดอยู่เพียงระดับภายในองค์กร (เช่น การต่อต้านการทุจริต) บางประเด็นอาจเกี่ยวข้องเฉพาะหน่วยงานที่อยู่ภายนอกองค์กร (เช่น สิทธิเด็ก) หรือมีบางประเด็นที่ต้องดำเนินการทั้งหน่วยงานที่อยู่ภายในและภายนอกองค์กร (เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก)

ตัวอย่างเหตุการณ์อาคารโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปถล่มทับคนงานในบังกลาเทศ มีผู้เสียชีวิตนับพันราย ได้ส่งผลกระทบไปยังเจ้าของตราสินค้า และห้างค้าปลีกในห่วงโซ่ธุรกิจ จนต้องมีการปรับรื้อมาตรฐานความปลอดภัย และการปฏิบัติด้านแรงงานกันอย่างจริงจัง

หรือเหตุการณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส ระงับการสั่งซื้อกุ้งแช่แข็งจากบริษัทของไทย หลังมีการรายงานว่ามีการใช้แรงงานทาสในทวีปเอเชีย ซึ่งบริษัทอาจมีส่วนเกี่ยวพันกับการบังคับใช้แรงงาน และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในฐานะผู้รับซื้อปลาเล็กจากเรือประมงที่เกิดเหตุทารุณและกดขี่แรงงานชาวต่างชาติ และปลาเล็กดังกล่าวถูกนำมาเป็นอาหารกุ้งในฟาร์มเลี้ยงของบริษัท

การดำเนินงาน CSR จากนี้ไปจะไม่ขึ้นอยู่กับสมรรถนะขององค์กรเพียงลำพัง แต่ยังยึดโยงกับสมรรถนะของคู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจ ซึ่งองค์กรไม่อาจใช้การกำกับดูแลตามเขตอำนาจของตนได้ แต่จำเป็นต้องใช้การถ่ายทอดอิทธิพลข้ามองค์กรไปยังคู่ค้าที่เกี่ยวข้องในประเด็นที่ต้องการให้ร่วมดำเนินการ

เส้นแบ่งของความรับผิดชอบต่อสังคมระหว่างองค์กรกับองค์กรข้างเคียงในห่วงโซ่ธุรกิจจะเลือนรางลง เนื่องจากองค์กรไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยการผลักภาระให้พ้นจากเขตความรับผิดชอบของตนได้


[Original Link]