เปิดมุมมองการลงทุนแบบ SRI
คำว่า Socially Responsible Investing หรือ SRI ไม่ใช่คำใหม่ในแวดวงของผู้ลงทุน เป็นคำที่ใช้อธิบายถึงรูปแบบของการลงทุน ที่นอกเหนือจากการหวังผลตอบแทนการลงทุนจากหน่วยลงทุนหรือกิจการที่เข้าลงทุนแล้ว ยังคำนึงถึงลักษณะการดำเนินงานของกิจการที่เข้าลงทุน ในส่วนของผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่สังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย
การลงทุนในลักษณะดังกล่าวในยุคแรก จะคำนึงถึงการไม่เข้าลงทุนในกิจการที่ตัวสินค้าและบริการก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมหรือขัดกับหลักศีลธรรมจรรยา (Negative Screening) เช่น กิจการที่เป็นอบายมุขต่างๆ การค้าอาวุธ ยาพิษ การค้ามนุษย์ การค้าสัตว์เพื่อฆ่า ฯลฯ
ยุคต่อมา มีการใช้เกณฑ์คัดเลือกกิจการที่ตัวสินค้าและบริการสร้างให้เกิดผลดีต่อสังคมหรือส่งเสริมหลักศีลธรรมจรรยา (Positive Screening) เช่น กิจการที่มีธรรมาภิบาลที่ดี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กิจการพลังงานทดแทน เกษตรอินทรีย์ ฯลฯ
การพัฒนาเกณฑ์การลงทุนในกรอบของ SRI ปัจจุบัน ใช้ปัจจัยการพิจารณาที่เรียกว่า ESG ซึ่งย่อมาจาก Environmental-Social-Governance หรือ สิ่งแวดล้อม-สังคม-ธรรมาภิบาล โดยมีประเด็นที่เป็นรายละเอียดภายใต้ปัจจัยหลัก 3 เรื่องนี้แยกย่อยออกไปตามความสนใจของกลุ่มผู้ลงทุน ซึ่งมีความแตกต่างกันจากเงื่อนไขในการลงทุนทั้งในแง่ของระยะเวลาการลงทุน อุตสาหกรรมที่เข้าลงทุน ประเทศที่กิจการนั้นตั้งอยู่ เป็นต้น
US SIF หน่วยงานในสหรัฐอเมริกาซึ่งทำหน้าที่ส่งเสริมบทบาทการลงทุนโดยใช้เกณฑ์ ESG ในการสร้างผลตอบแทนทางการเงินที่น่าพอใจในระยะยาว พร้อมๆ กับการสร้างผลกระทบทางสังคมในเชิงบวก รายงานว่า ปัจจุบันเม็ดเงินลงทุน SRI ในสหรัฐอเมริกา มีจำนวนราว 3.74 ล้านล้านเหรียญ หรือคิดเป็นร้อยละ 11.3 ของเม็ดเงินลงทุนทั้งหมดซึ่งมีอยู่ประมาณ 33.3 ล้านล้านเหรียญ หรือเทียบได้ว่า ในทุกๆ 9 เหรียญเงินลงทุน จะมี 1 เหรียญที่ลงทุนในแบบ SRI
จากการที่ได้คลุกคลีกับภาคเอกชนในการขับเคลื่อน CSR ผมได้รับคำถามในทำนองว่า แล้วจากนี้ไป องค์กรธุรกิจจะต้องใช้ ESG แทนคำว่า CSR หรือไม่
คำว่า ESG เป็นภาษาที่กลุ่มผู้ลงทุนใช้ เวลาที่ต้องการเลือกกิจการที่จะเข้าไปลงทุนว่า มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถลงทุนได้หรือไม่ ESG จึงเป็นคำที่ใช้สื่อระหว่างผู้ลงทุนกับบริษัท ส่วนคำว่า CSR เป็นภาษาที่กิจการใช้แสดงถึงการที่บริษัทมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (รวมถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี) ผ่านทางกระบวนการดำเนินงานต่างๆ ของบริษัท CSR จึงเป็นคำที่ใช้สื่อระหว่างบริษัทกับผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งครอบคลุมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะผู้ลงทุน
ในแง่ขององค์กรที่มีการขับเคลื่อน CSR-in-process หรือมีความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการหลักทางธุรกิจที่ดีอยู่แล้ว ท่านไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการอะไรใหม่ หรือทำเพิ่มเติมจากที่เป็นอยู่ เพราะสิ่งที่ดำเนินการอยู่ เข้าเกณฑ์ ESG ที่ผู้ลงทุนใช้พิจารณาเข้าลงทุนในบริษัทอยู่แล้ว ส่วนจะลงทุนมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับที่ผู้ลงทุนจะ Benchmark การดำเนินงานตามเกณฑ์ ESG ขององค์กรท่าน เทียบกับองค์กรอื่นที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเข้าลงทุน
ในแง่ขององค์กรที่มีการขับเคลื่อน CSR-after-process ในลักษณะกิจกรรมเพื่อสังคมซึ่งแยกต่างหากจากกระบวนการหลักทางธุรกิจที่ดี แต่การขับเคลื่อนเรื่อง CSR-in-process ยังมีไม่เด่นชัดนัก ท่านอาจจะต้องดำเนินการปรับปรุงพัฒนาในส่วนนี้เพิ่มเติม เพื่อให้เข้าเกณฑ์ ESG เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ลงทุนที่ใช้เกณฑ์ ESG มักจะให้ความสำคัญกับ CSR-in-process มากกว่า CSR-after-process ด้วยจากปัจจัยพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความเสี่ยงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับองค์กร และกับผลประกอบการขององค์กร
กระแสของการลงทุน SRI โดยใช้เรื่อง ESG มาเป็นเครื่องมือพิจารณาตัดสินใจ จึงยิ่งไปขับเน้นความสำคัญของ CSR-in-process ที่กิจการควรต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและต้องทำให้ได้ผลครับ
[Original Link]