โลกสวยด้วยมือคนอื่น
การจัดซื้อจัดจ้าง ถือเป็นกระบวนการสำคัญของธุรกิจ ที่สามารถใช้แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการผลักดันให้คู่ค้าในห่วงโซ่ธุรกิจหันมาใส่ใจผลิตสินค้าและบริการที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมีการนําเครื่องมือทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น เทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) การประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment) ของผลิตภัณฑ์ และการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Design) มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด แทนการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามระเบียบข้อบังคับทางกฎหมาย
ในหลายประเทศ ได้มีการนำแนวคิดการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน มาพัฒนากลไกการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) ที่คำนึงถึงตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกใช้วัตถุดิบหรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือวัสดุรีไซเคิลมาเป็นปัจจัยการผลิต การลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การผลิต การเลือกใช้พลังงานและเทคโนโลยีที่เหมาะสม การบรรจุหีบห่อ การขนส่ง การลดการปลดปล่อยมลพิษ และการจัดการกับซากผลิตภัณฑ์หลังหมดอายุการใช้งาน เป็นต้น
การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว เป็นการจัดซื้อหรือจัดจ้างผลิตภัณฑ์หรือบริการ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมทางด้านคุณภาพ ราคา การส่งมอบสินค้าหรือบริการตามที่กำหนด และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตและบริการ โดยพิจารณาตลอดทั้งวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์
โดยภาคธุรกิจ สามารถจัดทำนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวที่ให้ความสำคัญกับการพิจารณาคัดเลือกคู่ค้าโดยใช้หลักเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมจากเดิม รวมถึงการใช้ทะเบียนผู้ค้า (Approved Vendor List) เป็นเครื่องมือในการผลักดันเพิ่มยอดการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวขององค์กร
สำหรับประเทศไทยแล้ว ยังมีความท้าทายอยู่มากในการผลักดันให้เกิดกระแสของการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ด้วยสังคมส่วนใหญ่ ยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบหรือมลพิษที่เกิดจากการผลิตและการบริโภค เห็นได้ชัดว่า ในฝั่งของการผลิต ปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การวางผังเมือง การจัดโซนนิ่งระหว่างที่พักอาศัยและสถานประกอบการที่ก่อมลภาวะสูง รวมถึงต้นทุนของการดูแลสิ่งแวดล้อม ที่ไม่จูงใจให้เกิดการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งมีผลสืบเนื่องมาจากขนาดของตลาดที่จำกัด เป็นต้น
ในฝั่งของผู้บริโภคเอง ยังไม่มีกลุ่มที่แสดงตัวเรื่องแบบแผนการใช้ชีวิตที่ใส่ใจต่อสุขภาพและความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนเหมือนในบางประเทศ (เช่น ญี่ปุ่น) ที่มีกลุ่มก้อนของผู้บริโภคในรูปแบบที่เรียกว่า LOHAS: Lifestyle of Health and Sustainability ผลักดันให้เกิดตลาดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคำนึงถึงสุขภาพ ที่มีอัตราการขยายตัวและการเติบโตที่สูง จนเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว เมื่อตลาดมีขนาดใหญ่ ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่จะต้องรวมค่าใช้จ่ายในการดูแลสิ่งแวดล้อมก็พลอยลดลงตามไปด้วย
อันที่จริง ผู้บริโภคที่เป็นภาครัฐ มีส่วนแบ่งของการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นกลุ่มก้อนมากที่สุด หากนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ มีความพยายามที่จะผลักดันในจุดนี้ มูลค่าของการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในภาคเอกชนเอง ก็มีบทบาทสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ยกตัวอย่างธนาคารพาณิชย์ ที่มีระบบจัดซื้อจัดจ้างรวมศูนย์ มีการกำหนดประเภทและคุณสมบัติของวัสดุอุปกรณ์ที่ทุกสาขาของธนาคารต้องใช้เหมือนๆ กัน หากธนาคารใส่เงื่อนไขเรื่องสินค้าสีเขียว หรือการอุดหนุนสินค้าท้องถิ่นที่ช่วยลดการขนส่ง เข้าไว้ในหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้าง ก็สามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล
เช่น การระบุว่ากระดาษที่ใช้ในทุกสาขาของธนาคาร ต้องมาจากป่าปลูกเท่านั้น มาตรการนี้จะส่งผลต่อทั้งการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน ผู้ประกอบการที่ต้องการธนาคารแห่งนี้เป็นลูกค้า ก็ต้องปรับสายผลิตภัณฑ์ใหม่ แม้ช่วงเริ่มต้นอาจมีผู้ประกอบการน้อยรายที่ทำได้ ราคาอาจจะยังคงสูงอยู่ แต่เพราะเป็นโอกาสทางธุรกิจที่มีนัยสำคัญ ผู้เล่นรายใหม่ๆ ก็จะเข้ามาแบ่งส่วนตลาด เกิดการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพ และการประหยัดจากขนาดของการจัดซื้อจัดจ้าง ในที่สุดราคาก็จะปรับตัวลดลงตามกลไกตลาด
ผมคิดว่า เพียงแค่มอบหมายให้พนักงานในองค์กร โดยเฉพาะในองค์กรขนาดใหญ่ ช่วยกันคิดเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวในรายการสินค้าและบริการที่องค์กรใช้สอยมากเป็นมูลค่าสูงในสามอันดับแรก อุปสงค์ตัวนี้ สามารถสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระทบเป็นลูกโซ่ในสายอุปทาน ทั้งยังแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการยืมมือคู่ค้าให้เป็นผู้ดำเนินการอีกต่างหาก
เข้าทำนอง รักษ์โลก ด้วยมือคนอื่น (แต่ความคิดเรา)
[กรุงเทพธุรกิจ]