ป้ายหน้า CSV
นับจากที่ Shared Value Initiative ก่อตัวขึ้นในปี 2555 จากความริเริ่มของ Foundation Strategy Group (FSG) องค์กรที่ปรึกษาไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งก่อตั้งโดย “ไมเคิล อี พอร์เตอร์” และ “มาร์ค เครเมอร์” เพื่อนำแนวคิด CSV (Creating Shared Value) ที่ทั้งสองได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น แปลงไปสู่ “ภาคปฏิบัติ” ที่หลายองค์กรนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรและสังคมไปด้วยกัน จนเกิดเป็นชุมชนของนักปฏิบัติที่ร่วมอยู่ในเครือข่าย Shared Value Initiative ในปัจจุบัน มากกว่า 3,000 คน
ตัวอย่างบริษัทในต่างประเทศที่นำแนวคิด CSV ไปขับเคลื่อนในองค์กรจนถูกหยิบยกเป็นกรณีศึกษา เช่น โนวาร์ตีส (สวิตเซอร์แลนด์) เวสเทิร์น ยูเนี่ยน (อเมริกา) บริษัทในกลุ่มคิริน (ญี่ปุ่น) และกรณีศึกษาในระดับ SMEs เช่น บราวน์ส ซูเปอร์ สโตร์ส (อเมริกา)
สำหรับในประเทศไทย มีธุรกิจที่ได้นำเอาแนวคิด CSV มาประยุกต์ใช้กับองค์กรแล้ว อย่างเช่น บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และบริษัทในกลุ่ม ปตท. เป็นต้น
ในฝั่งของตลาดทุนไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาความยั่งยืน (Sustainability Development Roadmap) สำหรับบริษัทจดทะเบียน พ.ศ. 2557-2561 ได้มีกล่าวถึงเรื่อง CSV ไว้ โดยระบุถึงแนวทางการเสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทใน 3 ระดับ คือ Compliance / Do No Harm -> Integrated Business & SD Strategies -> พัฒนาธุรกิจไปสู่ Creating Shared Value
CSR Club สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ยังได้มีการนำเรื่อง CSV บรรจุไว้ในแผนกลยุทธ์ พ.ศ. 2557-2560 ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาความยั่งยืนของสำนักงาน ก.ล.ต. และเทรนด์โลกตามแนวทางการสร้างคุณค่าร่วม โดยระบุถึงบทบาทของ CSR Club ในการสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนใน 3 ระดับ คือ CSR-in-process -> SD Integration -> Shared Value Creation
การเชื่อมโยงการขับเคลื่อน CSV ในประเทศไทย กับ Shared Value Initiative ในระดับสากล สำหรับรองรับภาคเอกชนไทยที่สนใจในการพัฒนากลยุทธ์การดำเนินงานตามแนวทางของ CSV ที่สามารถส่งมอบคุณค่าให้แก่สังคมควบคู่กับการสร้างคุณค่าให้แก่องค์กร มีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากความเคลื่อนไหวในเรื่อง CSV ในบ้านเรา ได้ก่อตัวขึ้นในทิศทางเดียวกับพัฒนาการในระดับสากล
การจัดเตรียมทรัพยากรในรูปขององค์ความรู้ เครื่องมือ ตัวอย่าง และกรณีศึกษา สำหรับการสร้างคุณค่าร่วมทั้งในระดับที่เป็นกิจกรรมขององค์กรและในระดับองค์กรโดยรวม หรือเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ที่มีต่อการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรที่สนใจ เป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้เกิดเป็น Ecosystem สนับสนุนการขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าว
การเชื่อมโยงการขับเคลื่อน CSV ในประเทศเข้ากับ Shared Value Initiative เครือข่ายเคลื่อนไหวด้าน CSV ระดับโลก ยังจะเป็นโอกาสสำหรับองค์กรธุรกิจไทยที่มีการดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับแนวทาง CSV ได้เผยแพร่ตัวอย่างการดำเนินงานและกรณีศึกษาที่ประสบผลสำเร็จ ผ่านชุมชนนักปฏิบัติในเครือข่าย Shared Value Initiative กระจายออกไปทั่วโลกด้วย
บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจที่สนใจใช้แนวคิด CSV มาพัฒนาเป็นกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ทางสังคม ด้วยการนำความเชี่ยวชาญของหน่วยงานมาใช้สร้างคุณค่าเชิงเศรษฐกิจให้แก่องค์กรและสังคมไปพร้อมกัน อาจจะเริ่มขยับตัวได้ตั้งแต่นี้ไป
[Original Link]