Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

แนวโน้ม CSR ปี 58

วีรญา ปรียาพันธ์

ใกล้จะสิ้นปีแล้ว สื่อหลายสำนัก ต่างก็เริ่มประมวลความเคลื่อนไหวในประเด็นที่ภาคธุรกิจให้ความสนใจ ทั้งแนวโน้มการตลาด ไอที พีอาร์ เอชอาร์ รวมถึงเรื่องซีเอสอาร์ ที่คาดว่าจะเป็นทิศทางของปีหน้า ให้กับท่านผู้อ่านได้ทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมการสำหรับรองรับการขับเคลื่อนธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในอนาคต

ซีเอสอาร์ หรือความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ภาคธุรกิจไม่สามารถละเลยที่จะไม่ให้ความสนใจ เนื่องเพราะ ซีเอสอาร์เป็นปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนการดำเนินธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับของสังคม และกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ที่กิจการเข้าไปเกี่ยวข้อง และในระยะหลัง ได้มีการให้เครดิตในเรื่องซีเอสอาร์ ว่าเป็นกุญแจที่เปิดทางไปสู่การพัฒนาความยั่งยืน (Sustainability) ให้แก่กิจการและสังคมโดยรวม

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา พัฒนาการสำคัญของเรื่องซีเอสอาร์ในประเทศไทย คือ การขยับบทบาทซีเอสอาร์ขององค์กรธุรกิจจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมจำพวกที่เป็นโครงการหรือกิจกรรมซึ่งแยกต่างหากจากการดำเนินธุรกิจ ที่มักเรียกกันว่า “กิจกรรมเพื่อสังคม” หรือ CSR-after-process มาสู่การให้ความสำคัญกับการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมจำพวกที่อยู่ในกระบวนการทำงานหลักของกิจการ หรือ CSR-in-process โดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงระหว่างผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานกับการป้องกัน แก้ไข หรือทุเลาผลกระทบเหล่านั้น ในกระบวนการธุรกิจ ที่เป็นต้นทางของผลกระทบ แทนการดำเนินการที่ปลายเหตุ ซึ่งห่างไกลจาก (การได้มาซึ่ง) ความยั่งยืน

ตัวอย่างของซีเอสอาร์ที่เป็นกิจกรรมเพื่อสังคม ได้แก่ ความช่วยเหลือแก่สังคมขององค์กรธุรกิจในรูปของ Corporate Social Investment (CSI) ชนิดที่เป็นการช่วยเหลือทางตรงในลักษณะการบริจาคเพื่อการกุศล (Corporate Philanthropy) หรือการสนับสนุนในลักษณะการอาสาช่วยเหลือชุมชน (Community Volunteering) ร่วมกับพนักงานหรือร่วมมือกับองค์กรอื่น ซึ่งมิได้มีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่ธุรกิจดำเนินการอยู่เท่าใดนัก จัดเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมจำพวกที่แยกต่างหากจากการดำเนินธุรกิจที่เป็นกระบวนการหลักของกิจการและเกิดขึ้นภายหลัง

พัฒนาการในระยะหลัง การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ จึงมีความพยายามในการเชื่อมโยงกับสิ่งที่ธุรกิจดำเนินการอยู่ ก่อให้เกิดเป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ในกระบวนการทำงานหลักของกิจการ โดยคำนึงถึงการป้องกันและแก้ไขผลกระทบ (เชิงลบ) จากการดำเนินงานที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ ในลักษณะที่เป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ครอบคลุมทั้งในเรื่องและประเด็นทางสังคมที่องค์กรต้องปฏิบัติตามกฎหมายเป็นพื้นฐาน รวมถึงเรื่องและประเด็นที่สังคมหรือผู้มีส่วนได้เสียของกิจการคาดหวังให้องค์กรดำเนินการ โดยไม่คำนึงว่าเรื่องและประเด็นเหล่านั้น องค์กรจะมีสินทรัพย์หรือมีความเชี่ยวชาญเป็นทุนเดิมอยู่หรือไม่ก็ตาม

พัฒนาการล่าสุดที่เกิดขึ้นในแวดวงของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ในกระบวนการทำงานหลักของกิจการ และเป็นแนวโน้มที่คาดว่าจะกลายเป็นกระแสหลักในอนาคต คือ ความพยายามที่จะยกระดับมาสู่การส่งมอบผลกระทบ (เชิงบวก) จากการดำเนินงาน ในลักษณะของการสร้างคุณค่าร่วม (Shared Value) ระหว่างองค์กรและสังคม ด้วยการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์และจากความเชี่ยวชาญขององค์กรเป็นสำคัญ

ที่มา: INCITE, What is Shared Value?, 2014.

จะเห็นได้ว่า การสร้างคุณค่าร่วม หรือ Creating Shared Value (CSV) มิได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อมาทดแทนเรื่อง CSR หรือเรื่องความยั่งยืน แต่เป็นพัฒนาการภาคต่อของเรื่อง CSR-in-process ที่เลื่อนไหลจากการบริหารจัดการผลกระทบเชิงลบ มาสู่การส่งมอบผลกระทบเชิงบวก ที่แต่ละองค์กรใช้ประโยชน์จากความถนัดและความเชี่ยวชาญของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูง ด้วยการตอบโจทย์ทางธุรกิจและสังคมไปพร้อมๆ กัน

CSV จึงเป็นแนวคิดที่กิจการสามารถนำมาพัฒนาเป็นกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน และคาดหมายได้ว่า จะเป็นหนึ่งในแนวโน้มที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนธุรกิจในปี 2558


[ประชาชาติธุรกิจ]