Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

สถาบันไทยพัฒน์ ชี้ ESG จะมีบทบาทสำคัญต่อกิจการที่มุ่งสู่ความยั่งยืน


สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) มีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินงานและการเปิดเผยข้อมูลขององค์กรที่ต้องการพัฒนาสู่ความยั่งยืน


Environmental, Social and Governance (ESG) เป็นเรื่องของการคำนึงถึงผลกระทบจากการดำเนินงานที่จะเกิดแก่ผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งองค์กรใช้เป็นแนวการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบที่เชื่อมโยงสู่กระบวนการภายนอกด้วยการคำนึงถึงการดูแลผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีฐานที่พัฒนาขึ้นจากกลไกการกำกับดูแลกิจการที่ดี (CG) มุ่งหมายให้กิจการมีขีดความสามารถในการสร้างคุณค่าร่วมจากการส่งมอบประโยชน์ให้แก่กิจการและสังคมส่วนรวม อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของกิจการในระยะยาว

ในปี 2558 องค์กรธุรกิจที่ไม่เพียงต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มและการเติบโตของกิจการ แต่คำนึงถึงการสร้างคุณค่าร่วมและความยั่งยืนของกิจการ จะยกระดับด้วยการทบทวน CG ที่มีอยู่ในองค์กร ขยายสู่เรื่อง ESG เพื่อให้ครอบคลุมปัจจัยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และปรับตัวเข้าสู่วิถีของการพัฒนาความยั่งยืน

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กล่าวในงานเสวนา “ESG: The Factors of Sustainability” วันนี้ (29 มกราคม 2558) ว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจไม่สามารถละเลยที่จะไม่ให้ความสนใจ เนื่องเพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนการดำเนินธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับของสังคม และกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ที่กิจการเข้าไปเกี่ยวข้อง และได้มีการขยายความเพิ่มเติมในระยะหลังว่า ความสำเร็จจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นกุญแจที่เปิดทางไปสู่การพัฒนาความยั่งยืน (Sustainability) ให้แก่กิจการและสังคมโดยรวม”

นางสาวสุพรรณิการ์ กล่อมเกลี้ยง นักวิจัย สถาบันไทยพัฒน์ ได้กล่าวถึงผลการสำรวจประเด็นด้าน ESG ที่บริษัทมีการเปิดเผยในรายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) รายงานประจำปี (Annual Report) ที่เปิดเผยข้อมูลในหัวข้อ CSR และรายงาน CSR แบบบูรณาการ (Integrated CSR Report) จำนวน 126 เล่ม จาก 90 บริษัท ในระหว่างปี 2556-2557 พบว่า 10 อันดับแรกที่มีการรายงานมากสุด ได้แก่ การฝึกอบรมและการให้ความรู้ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ผลเชิงเศรษฐกิจ การจ้างงาน พลังงาน การต้านทุจริต มลอากาศ น้ำทิ้งและของเสีย ชุมชนท้องถิ่น การแสดงฉลากผลิตภัณฑ์และบริการ

สถาบันไทยพัฒน์ ได้มีการจัดทำประเด็น ESG ที่ได้จากผลสำรวจ จำแนกเป็นรายอุตสาหกรรม เผยแพร่ไว้ในหนังสือ GRI Sustainability Reporting Process กระบวนการรายงานเพื่อความยั่งยืน: G4 ฉบับ How-to แจกให้แก่ผู้เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับบริษัทในการคัดกรองประเด็นที่มีสาระสำคัญตามลักษณะธุรกิจด้วย ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ที่สถาบันไทยพัฒน์ (ไม่มีค่าใช้จ่าย) หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ www.thaipat.org

นอกจากนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังได้ทำการเผยแพร่รายงาน “6 ทิศทาง CSR ปี 2558” ให้แก่ผู้เข้าร่วมเสวนาในการใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืนของกิจการ ท่ามกลางความคาดหวังของสังคมไทยที่มีต่อการปฏิรูป การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินหน้าได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน โดยเฉพาะบทบาทขององค์กรธุรกิจที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของภาคเศรษฐกิจ และพร้อมรองรับการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในสิ้นปีนี้

สำหรับรายละเอียดการประมวลแนวโน้มความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ในรายงาน 6 ทิศทาง CSR ปี 2558 ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0 2930 5227 อีเมล info@thaipat.org


สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สถาบันไทยพัฒน์ ปิยเลขา ไหล่แท้ โทร 0-2930-5227