คลอด G4 ฉบับ How-to
เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อพูดถึงกรอบการจัดทำรายงานความยั่งยืนซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางนั้น หนีไม่พ้นที่จะพูดถึงองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2540 โดยแนวร่วมกลุ่มเศรษฐกิจที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Coalition for Environmentally Responsible Economies: CERES) และสถาบันเชิงสหวิทยาการที่ทำงานด้านวิจัยและนโยบาย ชื่อว่า Tellus Institute
เมื่อครั้งที่ GRI เป็นแผนกงานของ CERES คณะกรรมการกำกับการดำเนินงานได้เสนอแนะให้ GRI ขยายบทบาทการทำงานที่มากกว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม จนนำมาสู่การพัฒนาเป็น “กรอบการรายงานความยั่งยืน” ที่ครอบคลุมทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ฉบับแรก ซึ่งเรียกว่า ฉบับ G1 พร้อมกับการแยกตัวออกมาจาก CERES จัดตั้งเป็นองค์กรอิสระในปี พ.ศ.2543 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
ถัดจากนั้น ในปี พ.ศ.2545 GRI ได้ประกาศแนวทางการรายงานในฉบับ G2 ที่เวทีการประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่นครโจฮันเนสเบอร์ก และตามมาด้วยฉบับ G3 ในปี พ.ศ.2549 อันเป็นผลจากการยกร่างของบรรดาผู้เชี่ยวชาญกว่า 3,000 คน ทั้งจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคมและผู้แทนภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม กรอบการรายงานฉบับดังกล่าวได้กลายมาเป็นมาตรฐานตามความนิยม (de facto standard) สำหรับการรายงานแห่งความยั่งยืน และถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยได้มีการปรับปรุงเป็นฉบับ G3.1 ในปี พ.ศ.2554 จนพัฒนามาสู่ฉบับล่าสุดที่ใช้ในปัจจุบัน คือ ฉบับ G4 เมื่อปี พ.ศ.2556
GRI ทำงานในลักษณะเครือข่ายที่มีผู้มีส่วนได้เสียมากกว่า 30,000 ราย และมีผู้มีส่วนได้เสียภาคองค์กร (Organizational Stakeholders) ทั่วโลกราว 600 องค์กรทั้งในภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา รวมทั้งสมาคมการค้าต่าง ๆ ช่วยเหลือร่วมมือกันพัฒนากรอบและแนวปฏิบัติในการจัดทำรายงานความยั่งยืน
รายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) เป็นรายงานที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การดำเนินงาน การกำกับดูแล แนวการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สะท้อนทั้งในทางบวกและทางลบ โดยมุ่งเป้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ปัจจุบัน มีองค์กรทั่วโลกที่จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบของ GRI แล้วมากกว่า 5,000 แห่ง ใน 90 กว่าประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคต่างๆ
สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะ Certified Training Partner และผู้มีส่วนได้เสียภาคองค์กรของ GRI ได้จัดทำหนังสือชุด “รายงานเพื่อความยั่งยืน: Reporting your CSR” ที่อ้างอิง GRI ฉบับ G3 ในปี พ.ศ.2554 และฉบับ G3.1 ในปี พ.ศ.2555 เผยแพร่ให้แก่องค์กรธุรกิจที่สนใจ นำไปใช้เป็นคู่มือเบื้องต้นสำหรับทำความเข้าใจเรื่องการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามแนวทางของ GRI ที่ชี้ให้เห็นถึงวิธีการวางแผนและนำไปผนวกให้เกิดการเข้าถึงและทวีคุณค่าของกระบวนการจัดทำรายงาน
สัปดาห์หน้า ในงานแถลง “ทิศทาง CSR ปี 2558” สถาบันไทยพัฒน์จะทำการเผยแพร่หนังสือในชุดรายงานเพื่อความยั่งยืนเล่มล่าสุด “GRI Sustainability Reporting Process” ที่เป็น G4 ฉบับ How-to คู่มือเบื้องต้นสำหรับองค์กรในการจัดทำรายงานความยั่งยืนตามแนวทางของ GRI ฉบับ G4 ที่เน้นการสร้างให้เกิดกระบวนการรายงาน (Reporting Process) ขึ้นในองค์กร มิใช่มุ่งหวังเพียงเพื่อให้องค์กรได้มาซึ่งเล่มรายงาน (Report) เป็นเรื่องหลัก รวมทั้งการตอกย้ำเรื่องสารัตถภาพ (Materiality) ของกระบวนการรายงานและการเปิดเผยข้อมูล โดยพิจารณาถึงสิ่งซึ่งองค์กรควรดำเนินการและนำมารายงานให้ถูกเรื่อง ไม่ใช่การรายงานถึงสิ่งที่องค์กรได้ดำเนินการในทุกเรื่อง
[Original Link]