Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

สถาบันไทยพัฒน์ เปิดโผ 100 ธุรกิจมุ่งสู่วิถียั่งยืน


หน่วยงาน ESG Rating ของสถาบันไทยพัฒน์ เปิดเผยรายชื่อ 100 หลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม, สังคม และธรรมาภิบาล (ESG : Environmental, Social and Governance) จำนวน 100 บริษัท หรือกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ด้วยการคัดเลือกจาก 567 บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


ผลการคัดเลือก บจ.ที่เข้าอยู่ใน Universe ของ ESG100 ประจำปี 2558 กระจายอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 8 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 11 บริษัท, กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 10 บริษัท, กลุ่มธุรกิจการเงิน 17 บริษัท, กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม 10 บริษัท, กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 11 บริษัท, กลุ่มทรัพยากร 14 บริษัท, กลุ่มบริการ 16 บริษัท และกลุ่มเทคโนโลยี 11 บริษัท

"ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ" ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกอยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 มาจากหมวดธุรกิจพลังงาน และสาธารณูปโภคมากสุดคือ 12 บริษัท รองลงมาเป็นหมวดธุรกิจธนาคาร จำนวน 10 แห่ง และมี บจ.ที่อยู่ในตลาด mai เข้าอยู่ใน ESG100 จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC), บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น (ILINK), บมจ.ซีเอ็มโอ (CMO) และ บมจ.เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ (APCO)

ยกตัวอย่างบริษัทในกลุ่ม ESG100 ได้แก่ บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF), บมจ.ซาบีน่า (SABINA), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI), บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC), บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP), บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC), บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)

สำหรับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคป (Market Capitalization) รวมกันของ 100 บริษัทใน ESG100 มีมูลค่าราว 9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับมาร์เก็ตแคปของทั้งตลาดที่ 14 ล้านล้านบาท

"ESG100 เป็นเหมือนตัวช่วยให้นักลงทุนเลือกลงทุนกับบริษัทที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านผลประกอบการทางการเงิน และมีการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ขณะเดียวกัน บจ.ที่ตีโจทย์แตกจะมองทะลุว่า ESG เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้บริษัทเป็นเป้าหมายของการลงทุน ซึ่งการที่บริษัทจะได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับ ESG ต้องมาจากการทำ CSR in Process กล่าวได้ว่า องค์กรจะถูกผลักดันให้ทำซีเอสอาร์ที่เชื่อมโยงกับผลประกอบการ ดังนั้น การลงทุนที่ยั่งยืนจะมีผลกระทบไปสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมปลายทางด้วย"

"ดร.พิพัฒน์" ให้ข้อมูลว่า ปริมาณเม็ดเงินที่ถูกจัดสรรในหมวดการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Investment) ทั่วโลกมีอัตราเติบโตอย่างก้าวกระโดด อย่างปริมาณเม็ดเงินที่ลงทุนในหมวดนี้ของประเทศสหรัฐอเมริกามีมากกว่า 6.57 ล้านล้านเหรียญ คิดเป็น 18% ของขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมดที่ 36.8 ล้านล้านเหรียญ ขณะที่ในยุโรปการลงทุนในหมวดนี้มีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านล้านยูโร ส่วนในเอเชีย ตลาดของการลงทุนที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 22%

"ในต่างประเทศมีผู้จัดทำข้อมูล และให้บริการดัชนีด้านความยั่งยืนเผยแพร่แก่ผู้ลงทุน โดยใช้ข้อมูล ESG เป็นฐานในการพิจารณา เช่น S&P Dow Jones, MSCI, FTSE ขณะที่ในปีนี้ บริษัทหลักทรัพย์ของไทยจะมีการออกบทวิเคราะห์ที่ผนวกข้อมูล ESG เข้าไปประกอบและเผยแพร่ให้กับนักลงทุน"

อย่างไรก็ดี สถาบันไทยพัฒน์เตรียมออก Thaipat ESG Rating เป็นการจัดเรตติ้งบริษัทที่มีความโดดเด่นด้าน ESG ซึ่งกรอบที่ใช้ในการประเมินผลจะมาจากความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders View), ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และวิถีระยะยาว (Long-term Horizon) คาดว่าจะสามารถจัดทำได้ไม่เกินไตรมาส 2 ของปีนี้

อนึ่ง การคัดเลือกกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ใช้ข้อมูลจาก 6 แหล่ง ได้แก่
1)ข้อมูลในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคมในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์
2)ข้อมูลการพิจารณารางวัล บจ.ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมยอดเยี่ยม และรางวัล CSRI Recognition ของ ตลท.
3)ข้อมูลโครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืนของสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย
4)ข้อมูลผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน (CG Scoring) ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
5)ข้อมูลโครงการประเมินระดับการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการ (CSR Progress Indicator และ Anticorruption Indicator) จากสถาบันไทยพัฒน์
6)ข้อมูล บจ.ไทยที่ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI)



[Original Link]