สถาบันไทยพัฒน์ เตรียมจัดอันดับ ESG ดึงบริษัทนอกตลาดร่วมขบวน
- | สถาบันไทยพัฒน์ เดินแผนกระตุ้นซีเอสอาร์บริษัทจดทะเบียน (บจ.) หลังการเปิดเผย ESG 100 เตรียมจัดอันดับต่อ คาดเริ่มภายในไตรมาสที่ 2 พร้อมเปิดกว้างให้บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ร่วมพิจารณา |
- | ส่อง ESG 100 นัยสำคัญในการคัดกรองหุ้นคุณภาพในวิถียั่งยืน เล็งผลระยะยาว บจ.ตระหนักถึงแนวทางดำเนินธุรกิจที่มีซีเอสอาร์ ควบคู่กับข้อมูลผลประกอบการทางการเงิน |
หลังจาก สถาบันไทยพัฒน์ เปิดเผยรายชื่อ 100 หลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) โดยเป็นการคัดเลือกจาก 567 บริษัทจดทะเบียนที่ทำการประเมินโดยใช้ข้อมูลจาก 6 แหล่ง ประกอบด้วย
1) | ข้อมูลในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคมในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ |
2) | ข้อมูลการพิจารณารางวัลบริษัทจดทะเบียนด้านความรับผิดชอบต่อสังคมยอดเยี่ยม และรางวัล CSRI Recognition ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย |
3) | ข้อมูลโครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืน สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย |
4) | ข้อมูลผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน (CG Scoring) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) |
5) | ข้อมูลโครงการประเมินระดับการพัฒนาความยั่งยืนของกิจการ (CSR Progress Indicator และ Anti-corruption Indicator) สถาบันไทยพัฒน์ และ |
6) | ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) |
โดยมีจำนวนกว่า 10,500 จุดข้อมูลเกี่ยวกับ ESG ที่บริษัทเผยแพร่ไว้ต่อสาธารณะซึ่งมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) รวมกันของ 100 บริษัทใน ESG100 ประมาณ 9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับมาร์เกตแคปของทั้งตลาดฯ ที่ 14 ล้านล้านบาท
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า กลุ่ม ESG 100 นั้นเป็นการจัดอันดับหลักทรัพย์ด้านการพัฒนาความยั่งยืนของธุรกิจครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อนำไปใช้เป็นแหล่งข้อมูลด้านความยั่งยืนของหลักทรัพย์จดทะเบียน (บจ.) สำหรับรองรับความต้องการของผู้ลงทุนที่ให้น้ำหนักการลงทุนในบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งต่อไปจะทวีความสำคัญเพราะไปเกื้อหนุนต่อการดำเนินธุรกิจให้เป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ที่กิจการเข้าไปเกี่ยวข้อง
“ESG 100 บจ.ใดอยู่ในเกณฑ์การประเมิน แสดงถึงการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ที่มีข้อมูลอ้างอิงได้ ESG เป็นข้อมูลที่มีอยู่แล้วในองค์กรที่บอกว่ากิจการนั้นมีกิจกรรมซีเอสอาร์ซึ่งเป็นการลงมือทำจริง เป็น CSR in process โดยได้แสดงข้อมูลที่นำไปรายงานในฐานข้อมูลประจำปี ดังนั้น อีก 467 บจ. จากทั้งหมด 567 บจ. ไม่ติดอยู่ในเกณฑ์ ESG 100 ก็จะสร้างแรงกระตุ้นให้กิจการตระหนักในการเปิดเผยข้อมูลด้านซีเอสอาร์มากขึ้น ผมอยากให้มอง ESG เป็นเกณฑ์ที่เปิดโอกาสให้แสดงตนเองว่ากิจการมีซีเอสอาร์ ซึ่งใช้เป็นกุญแจเปิดทางไปสู่การพัฒนาความยั่งยืนแก่ บจ.และสังคมมากกว่า”
สำหรับตัวแบบการประเมิน (ESG Rating Model) ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกเป็นเกณฑ์ขอบข่าย (Scope) ประกอบด้วย ความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder View) ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และวิถีระยะยาว (Long-Term Horizon) กลุ่มสองเป็นเกณฑ์หัวข้อเรื่อง (Topic) ประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และ ธรรมาภิบาล (Governance) และ กลุ่มสามเป็นเกณฑ์ของเนื้อหา (Materiality)
“กรอบในการคัดเลือก ESG 100 ยังไม่บอกว่า บจ.ใดได้อันดับ 1 หรือ 100 แต่เป็นการพิจารณาจาก 6 แหล่งข้อมูลดังกล่าว ส่วนการจัดอันดับจะเป็นการดำเนินการในขั้นต่อไปซึ่งยังต้องดูข้อมูลในเชิงลึกของแต่ละกลุ่มธุรกิจเนื่องจากมีองค์ประกอบที่แตกต่างกัน เช่น โรงงานอุตสาหกรรมกับธุรกิจให้บริการมีรายละเอียดของเนื้อหาไม่เหมือนกัน ดังนั้น น้ำหนักที่จะใช้พิจารณาควรจะต้องให้สอดคล้องกับบริบทของกลุ่มธุรกิจ หรือถ้ากำหนดสัดส่วนของ ESG ให้ชัดเจนไปเลยก็มีทั้งข้อดีที่มีความชัดเจน แต่ข้อเสียคือความเป็นธรรม ซึ่งคงจะต้องศึกษาในรายละเอียดแต่คาดว่าจะเริ่มต้นดำเนินการภายในไตรมาสที่ 2
ขณะเดียวกัน ESG ในขั้นต่อไปจะเปิดให้กิจการธุรกิจที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณา ESG ซึ่งคาดว่ามีองค์กรทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ให้ความสนใจเนื่องจากองค์กรมีนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านซีเอสอาร์ เช่น เทสโก้ โลตัส บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด เป็นต้น”
สำหรับการผนวกนำข้อมูล ESG ไปใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนนั้นมีหลายรูปแบบ เช่น 1.การนำไปวิเคราะห์ร่วมกับผลประกอบการ 2.จ้างนักวิเคราะห์ เรื่อง ESG โดยเฉพาะ และ 3.การทำเป็นธีมธุรกิจ เช่น ธีมธุรกิจพลังงานทดแทน เป็นต้น
“การจัดอันดับหลักทรัพย์กลุ่ม ESG100 นั้นเป็นข้อมูลตั้งต้นที่ผู้ลงทุนสามารถใช้คัดเลือกหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อตอบโจทย์การลงทุนที่ยั่งยืน พร้อมกับการสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่มิได้ด้อยไปกว่าการลงทุนในแบบทั่วไป ถือว่าเป็นมิติใหม่ของการเผยแพร่ข้อมูลด้าน ESG ของหลักทรัพย์จดทะเบียนให้แก่ผู้ลงทุน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ควบคู่กับข้อมูลผลประกอบการทางการเงิน อันจะนำไปสู่การสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน การส่งเสริมธรรมาภิบาลของบริษัท และการดูแลรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน” ดร.พิพัฒน์ กล่าวในที่สุด
ESG สหรัฐฯ ยุโรป โตก้าวกระโดด
ในต่างประเทศมีการจัดทำข้อมูลและให้บริการดัชนีด้านความยั่งยืนเผยแพร่ให้แก่ผู้ลงทุน โดยใช้ข้อมูล ESG เป็นฐานในการพิจารณา เป็นจำนวนหลายราย อาทิ เอสแอนด์พี ดาวโจนส์ ฟุตซี่ เอ็มเอสซีไอ และนับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปริมาณเม็ดเงินที่ถูกจัดสรรในหมวดการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Investment) ทั่วโลก มีอัตราเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ บอกว่า เฉพาะในสหรัฐอเมริกา ในปี 2013-2014 ปริมาณเม็ดเงินที่ลงทุนในหมวดนี้ มีมากกว่า 6.57 ล้านล้านเหรียญ คิดเป็นร้อยละ 18 ของขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมดที่ 36.8 ล้านล้านเหรียญ หรือเทียบอย่างง่าย คือ ในจำนวนเงินลงทุน 6 เหรียญ จะมีไม่ต่ำกว่า 1 เหรียญที่ลงทุนโดยใช้ข้อมูล ESG ขณะที่ในยุโรป การลงทุนในหมวดนี้ มีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 7 ล้านล้านยูโร ส่วนในแถบเอเชียก็มีพัฒนาการของตลาดการลงทุนที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้นประมาณ 22% ซึ่งจะต้องอาศัยฐานข้อมูล ESG
ส่วนในการเปิดเผยข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงินในรูปของรายงาน ซึ่งบริษัททั่วโลกดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ รายงานความยั่งยืน หรือ Sustainability Report เป็นการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การดำเนินงาน การกำกับดูแล แนวการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สะท้อนทั้งในทางบวกและทางลบ โดยมุ่งเป้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ESG 100 พลังงาน-ธนาคาร ครองแชมป์สูงสุด
บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกอยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ครองมาร์เก็ตแคป กว่า 9 ล้านล้านบาท หมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภคมากสุด คือ 12 บริษัท รองลงมาเป็นหมวดธุรกิจธนาคาร จำนวน10 แห่ง และมีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาด mai เข้าอยู่ใน ESG100 จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ QTC, ILINK, CMO, APCO
ทั้งนี้ กระจายอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม 8 กลุ่ม
• | กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (Agro & Food Industry) 11 บริษัท เช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร, ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล และไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ |
• | กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products) 10 บริษัท เช่น บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล, ซาบีน่า และไทยวาโก้ |
• | กลุ่มธุรกิจการเงิน (Financials) 17 บริษัท เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา |
• | กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม (Industrials) 10 บริษัท เช่น บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล, อินโดรามา เวนเจอร์ส และสหวิริยาสตีลอินดัสตรี |
• | กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (Property & Construction) 11 บริษัท เช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย, เซ็นทรัลพัฒนา และพฤกษา เรียลเอสเตท |
• | กลุ่มทรัพยากร (Resources) 14 บริษัท เช่น บริษัท ปตท., ปตท.สผ. และโกลว์ พลังงาน |
• | กลุ่มบริการ (Services) 16 บริษัท เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย, บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ |
• | กลุ่มเทคโนโลยี (Technology) 11 บริษัท เช่น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส, อินทัช โฮลดิ้งส์ และโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น |
ESG เป็นคำที่ใช้ในตลาดทุนโดยผู้ลงทุนเพื่อใช้ประเมินการดำเนินงานของบริษัท และทำให้ล่วงรู้ถึงผลประกอบการในอนาคตของบริษัท ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการประกอบการดังกล่าวนี้ มาจากบทบาทของบริษัทที่มีต่อเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) เรื่องความยั่งยืน (Sustainability) หรือที่มักอ้างอิงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม |
[Original Link]