Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ต้านทุจริตด้วยการประเมินความเสี่ยง


คำมั่นหรือคำประกาศเจตนารมณ์ของบริษัทที่จะดำเนินการต่อต้านการทุจริตในสังคม อาจไม่เพียงพอหรือไม่มีน้ำหนักเท่ากับการจัดทำเป็นนโยบายที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในทุกรูปแบบโดยไม่เว้นช่องให้เกิดการตีความ ซึ่งจะช่วยให้พนักงานและคู่ค้าทางธุรกิจได้รับทราบถึงบรรทัดฐาน ข้อห้าม และระเบียบวิธีปฏิบัติที่ตรงกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง

ระดับของนโยบายที่บริษัทกำหนดเพื่อดำเนินการ จะมีความสัมพันธ์กับการประเมินความเสี่ยงของแต่ละส่วนงานหรือหน่วยธุรกิจในบริษัทและบริษัทย่อยที่มีความเสี่ยงว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต

การกำหนดระดับของนโยบายบริษัท ควรประกอบด้วยถ้อยความที่ไม่ยินยอมให้เกิดพฤติกรรมการทุจริตขึ้นในองค์กร และยืนยันว่าองค์กรได้มีการประเมินความเสี่ยงและได้กำหนดแนวปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่ในทุกระดับ ทั้งกรรมการ ผู้บริหาร ผู้จัดการ พนักงาน ให้เป็นไปตามกฎหมาย หลักจริยธรรม และมีผลผูกพันกับการปฏิบัติหน้าที่ ความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและหุ้นส่วนทางการค้า โดยจัดทำเป็นนโยบายที่เป็นทางการ รับรองโดยมติคณะกรรมการบริษัท และเปิดเผยต่อสาธารณะ

ตัวอย่างระดับของนโยบายที่บริษัทกำหนดเพื่อดำเนินการ อาจเริ่มจากระดับที่บริษัทไม่จ่ายให้เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจหรือได้มาซึ่งธุรกิจโดยมิชอบ ถัดมาเป็นระดับที่บริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต จนถึงระดับที่บริษัทไม่เกี่ยวข้องและต่อต้านผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริต เป็นต้น

ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (UNCAC) รวมทั้งในแนวปฏิบัติสากลอื่นๆ ได้ให้รายละเอียดรูปแบบของการทุจริตที่สามารถเกิดขึ้นในช่องทางต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการใช้เป็นแนวทางในการกำหนดระดับของนโยบาย อาทิ การมีผลประโยชน์ทับซ้อน การฟอกเงิน การยักยอก ค่าของขวัญ ค่ารับรองและค่าเดินทาง การบริจาคเงิน การอุปถัมภ์ การใช้จ่ายเพื่ออำนวยความสะดวก การสนับสนุนทางการเมือง การใช้จ่ายลงทุนทางสังคมและชุมชน การติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐและการวิ่งเต้น การค้าผ่านหุ้นส่วนธุรกิจ ตัวแทนและคนกลางอื่นๆ กิจการร่วมค้า การใช้สินทรัพย์ของกิจการ การควบรวมกิจการและส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย

สำหรับการระบุความเสี่ยงของส่วนงานหรือแหล่งดำเนินงานของบริษัทว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือไม่นั้น บริษัทต้องเข้าใจถึงช่องทางที่ตัวธุรกิจและวิธีดำเนินการของธุรกิจในจุดที่อาจเกิดการทุจริตขึ้น ผลจากการประเมินความเสี่ยง จะช่วยให้บริษัทสามารถกำหนดระดับของนโยบายที่ใช้ดำเนินการต่อต้านการทุจริตที่เหมาะสมกับองค์กร

การประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดทุจริตเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ทั้งในแบบที่ง่ายไม่ลงรายละเอียด หรือในแบบที่ซับซ้อนลงในรายละเอียด บริษัทสามารถเริ่มประเมินด้วยรูปแบบที่ง่ายไม่ซับซ้อน แล้วจึงค่อยเพิ่มรายละเอียดและระดับการวิเคราะห์ตามลำดับขั้น โดยพิจารณาความเสี่ยงต่อการเกิดทุจริตจากลักษณะกิจกรรมทางธุรกิจ แหล่งดำเนินงาน สภาพอุตสาหกรรม เงื่อนไขทางธุรกิจและธรรมเนียมปฏิบัติในท้องถิ่น จากนั้นดำเนินการระบุโอกาสหรือความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น ขนาดของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับองค์กร และที่สำคัญที่สุด คือ แนวทางในการลดความเสี่ยงและมาตรการในการป้องกันหรือต่อต้านการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งข้อมูลชุดหลังนี้ ก็คือข้อมูลสำหรับใช้จัดทำนโยบายเพื่อระบุการดำเนินงานของบริษัทหรือบริษัทย่อยที่มีความเสี่ยงว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตนั่นเอง

การประเมินความเสี่ยงในแบบที่ซับซ้อนลงในรายละเอียด จะให้ข้อมูลแก่บุคลากรถึงวิธีปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตต่อรูปแบบของการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจง นโยบายที่ให้รายละเอียดสามารถใช้ในการกำหนดเป็นข้อปฏิบัติ (เช่น การรับหรือให้ของขวัญ ค่ารับรอง การมีผลประโยชน์ทับซ้อน) ตลอดจนการสื่อสารและฝึกอบรมแก่บุคลากร รวมถึงการใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงเพื่อปกป้องชื่อเสียงองค์กรและใช้เป็นองค์ประกอบเพื่อพิจารณาลดโทษในกรณีที่ถูกฟ้องหรือต้องคำพิพากษา

บริษัทอาจอ้างอิงถึงข้อแนะนำสำหรับการประเมินความเสี่ยงในการต่อต้านการทุจริตของหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น UN Global Compact Guide for Anti-Corruption Risk Assessment เพื่อให้ได้รับความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

โปรดระลึกว่า การประเมินความเสี่ยงเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับการจัดทำแผนงานต่อต้านการทุจริตขององค์กร หรือใช้หลักให้จดจำง่ายว่า “เสี่ยง” ที่ใด “ต้าน” ที่นั่น


[Original Link]