Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

เวทีผู้นำแห่งคุณค่าร่วม

สุธิชา เจริญงาม

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ได้ถูกพัฒนาต่อยอดจากแนวคิด Strategic CSR มาเป็นแนวคิด Creating Shared Value (CSV) หรือการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจและสังคม โดย ศ.ไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ เจ้าของหรือผู้ที่เป็นต้นตำรับของแนวคิดดังกล่าว

กระทั่งก่อตั้งเป็น Shared Value Initiative เมื่อปี 2555 เพื่อถ่ายทอดแนวคิด CSV ที่ทั้งสองท่านร่วมกันพัฒนาขึ้น ให้แก่องค์กรทั่วโลกนำไปใช้ทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

สำหรับปีนี้ Shared Value Initiative จะจัดการประชุมสุดยอด “Shared Value Leadership Summit 2015” ขึ้น ในวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2558 ณ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้ธีม “Business as its best” โดยคาดว่าจะมีผู้ร่วมประชุมไม่ต่ำกว่า 450 คน จากทั่วโลก

งานในครั้งนี้ จะมีการนำเสนอตัวอย่างและกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการสร้างคุณค่าร่วม (CSV) สถานการณ์ความเคลื่อนไหวเรื่อง CSV ในระดับสากล จากวิทยากรระดับซีอีโอ 15 ท่าน และผู้ชำนาญการระดับอาวุโสอีกกว่า 50 ท่าน รวมทั้งการเสวนาเรื่อง “Leveraging Corporate and Partner Assets to Create Shared Value” ที่นำการสนทนาโดย ศ.ไมเคิล อี พอร์เตอร์

The “Why” of Shared Value
งานในวันแรก เน้นนำเสนอประเด็น ซึ่งเป็น “เหตุ” แห่งคุณค่าร่วม ที่นอกจากการใช้รูปแบบเชิงเสวนาแล้ว ยังมีเวิร์คช็อปเชิงปฏิบัติการใน 4 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ โอกาสแห่งคุณค่าร่วมในเรื่องสุขภาวะ การจ้างงานเยาวชน ความมั่นคงทางอาหาร และบทบาทของสตรี

ในประเด็นสุขภาวะ ความท้าทายด้านสุขภาพในระดับโลก ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจด้านสุขภาพ เภสัชภัณฑ์ และเทคนิคการแพทย์ ประเด็นสุขภาวะและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีทั้งของพนักงาน ของผู้บริโภค และของสังคม ได้ส่งผลกระทบไปยังทุกๆ องค์กร และธุรกิจที่ไม่นิ่งเฉย ต่างมุ่งค้นหานวัตกรรมสำหรับเผชิญหน้ากับความท้าทายดังกล่าว

และด้วยเหตุที่ความก้าวหน้าทางสุขภาวะยังขึ้นอยู่กับพัฒนาการในสาขาอื่นๆ โดยเฉพาะการจ้างงาน การศึกษา น้ำ การสุขาภิบาล พลังงาน และโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้วิถีแห่งคุณค่าร่วมที่สามารถควบการลงทุนไปยังสาขาต่างๆ ได้ในคราวเดียว จะทวีความสำคัญและก่อให้เกิดผลกระทบได้กว้างขวางสุด

ในประเด็นการจ้างงานเยาวชน ด้วยเหตุที่ภาวะการว่างงานในกลุ่มคนรุ่นใหม่มีอัตราสูงขึ้นทั่วโลก องค์กรธุรกิจสามารถทำงานร่วมกันภายในภาคเอกชนด้วยกันเอง และกับภาครัฐและภาคประชาสังคม รวมทั้งสถาบันการศึกษา ในการรับมือเพื่อให้ได้ขนาดของการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับความรุนแรงของสถานการณ์ด้วยมโนทัศน์แห่งคุณค่าร่วม โดยการผนวกโจทย์ทางสังคมที่เป็นกลุ่มเยาวชนที่ขาดโอกาส เข้ากับการจัดหาและฝึกอบรมพนักงาน ผู้ส่งมอบ และลูกค้าในกลุ่มที่เป็นฐานการเจริญเติบโตทางธุรกิจ

ในประเด็นด้านอาหาร การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคที่เสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางอาหารและความชะงักงันของอุปทานในระดับโลก องค์กรธุรกิจต่างขะมักเขม้นในการวางแบบแผนการจัดหาทรัพยากรเพื่อรองรับกับความผันผวนทางสภาพภูมิอากาศ โรคที่อุบัติเพิ่มขึ้น

ปรากฏการณ์ของน้ำในอากาศและการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก ด้วยการใช้กลยุทธ์ที่ผสมผสานการปรับปรุงประสิทธิภาพในห่วงโซ่อุปทานและการเพิ่มความยืดหยุ่นเพื่อเผชิญกับการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ในประเด็นด้านบทบาทสตรี โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ผู้หญิงเป็นทั้งผู้บริโภค ผู้ผลิต และผู้ผลิตซ้ำ ที่มีจำนวนกว่าครึ่งของประชากรโลก ความสำเร็จทางธุรกิจทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว ขึ้นอยู่กับผลิตภาพ สุขภาพ และการได้รับความรู้ของสตรี ธุรกิจจึงต้องคำนึงถึงการพัฒนาแรงงานที่เอื้อต่อการปรับปรุงคุณภาพความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตของสตรี ทั้งในสถานประกอบการและในห่วงโซ่อุปทาน ให้เกิดการส่งมอบคุณค่าทางธุรกิจให้แก่กิจการไปพร้อมกัน

The “How” of Shared Value
งานในวันที่สอง เน้นนำเสนอการทำหน้าที่ ซึ่งเป็น “วิถี” แห่งคุณค่าร่วม โดยมีเวิร์คช็อปเชิงปฏิบัติการที่กล่าวถึงวิธีการและเครื่องมือที่น่าสนใจ 4 ชุด ได้แก่ กรอบการวัดคุณค่าร่วม การสร้างศักยภาพของตราสินค้าในบริบทของคุณค่าร่วม นวัตกรรมองค์กรในการแปลงตัวแบบทางธุรกิจสู่การสร้างคุณค่าร่วม การขับเคลื่อนภาวะผู้นำและการสร้างความผูกพันร่วมกับพนักงานที่นำไปสู่องค์กรแห่งคุณค่าร่วม

องค์กรธุรกิจจำนวนไม่น้อยถูกท้าทายด้วยความซับซ้อนที่มีในตัวต่อการวัดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในมุมมองของคุณค่าร่วม วิธีการและเครื่องมือในการวัดคุณค่าร่วมจึงเป็นหัวเรื่องสำคัญที่ถูกวางให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้านการวัดผลได้นำเสนอกรอบและทางเลือกของการวัดคุณค่าร่วมในงานประชุมครั้งนี้

สำหรับการสร้างแบรนด์หรือตราสินค้าที่จำเป็นต้องมีความแตกต่าง เป็นต้นตำรับ และก่อให้เกิดความผูกพันที่แน่นแฟ้น แนวคิดคุณค่าร่วมเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนแรงขับทางการตลาดและตราสินค้า ไปในทางที่เสริมแรงกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและทางสังคมไปพร้อมกัน

เช่นเดียวกับการบ่มเพาะนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนาทั่วไป การตั้งหน่วยธุรกิจหรือความริเริ่มด้านคุณค่าร่วม จำเป็นต้องมีลำดับขั้นของการดำเนินงานภายในองค์กร ทั้งวิสัยทัศน์ การสนับสนุน การปฏิบัติให้เกิดผล ซึ่งต้องใช้เวลาและภาวะผู้นำ องค์กรที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบคุณค่าร่วม จะต้องผ่านวัฒนาการด้านโครงสร้างองค์กรที่เอื้อต่อธุรกิจใหม่ในการสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจพร้อมกับผลลัพธ์ทางสังคม ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมองค์กรในการแปลงตัวแบบทางธุรกิจสู่การสร้างคุณค่าร่วม

แรงจูงใจของพนักงานยุคใหม่ มิได้ขึ้นกับผลตอบแทน หรือผลประกอบการของบริษัทโดยลำพังอีกต่อไป แต่ยังขึ้นกับเจตจำนงของกิจการที่มีต่อการดำเนินธุรกิจ พัฒนามาเป็นพันธกิจองค์กร ที่ซึ่งพนักงานจะพิจารณาตกลงยอมรับที่จะผูกพันร่วมด้วย วิถีแห่งคุณค่าร่วมได้นำเสนอโอกาสให้องค์กรสามารถใช้สร้างแรงสนับสนุนจากบุคลากรในทุกระดับ

รวมทั้งการเรียนรู้จากประสบการณ์ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างผู้ประกอบการภายในกิจการ (Intrapreneurs) ที่สนับสนุนคุณค่าร่วม ตลอดจนโอกาสการพัฒนาภาวะผู้นำที่ขับเคลื่อนกิจการไปสู่องค์กรแห่งคุณค่าร่วม

ผู้ที่สนใจงานประชุมสุดยอด “Shared Value Leadership Summit 2015” สามารถดูรายละเอียดการเข้าร่วมเวทีผู้นำแห่งคุณค่าร่วม เพิ่มเติมได้ที่ sharedvalue.org


[Original Link]