Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

เลียบเลาะเวที Shared Value Summit


สัปดาห์นี้ (12-13 พ.ค.) ผมเดินทางมาร่วมงานประชุมสุดยอด “Shared Value Leadership Summit 2015” ร่วมกับคณะคนไทยอีก 3 ท่าน ประกอบด้วยคุณเชาวภาค ศรีเกษม Chief Marketing Officer บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) คุณสุธิชา เจริญงาม รองผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ และคุณปาจารีย์ คุณชัยมัง หุ้นส่วน บริษัท เอ็กซ์เพิร์ท แอสเปค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ณ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้ธีม “Business as its best” กับผู้ร่วมประชุมกว่า 350 คน จากทั่วโลก


งานประชุม Shared Value Leadership Summit ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 5 นับจากครั้งแรกที่มีขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2011 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่บทความ “Creating Shared Value” ของ ศ.ไมเคิล อี พอร์เตอร์ และมาร์ค เครเมอร์ ได้ตีพิมพ์ในนิตยสาร ฮาร์วาร์ด บิสิเนส รีวิว เช่นกัน

ไฮไลต์ของงานประชุมปีนี้ อยู่ที่ Keynote Address ของพอร์เตอร์ ในหัวเรื่อง “Shared Value as Core Corporate Strategy” ที่ได้ตอกย้ำความเป็น “กลยุทธ์” ระดับองค์กรของคุณค่าร่วม

พอร์เตอร์ ชี้ให้เห็นว่าการสร้างคุณค่าร่วมมิได้ใช้เพียงเพื่อให้การดำเนินงานขององค์กรดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ แต่เป็นการตราคุณค่าทางกลยุทธ์ เช่นเดียวกับที่การสร้างคุณค่าร่วมมิได้ใช้เพียงเพื่อให้องค์กรอยู่เหนือคู่แข่งขัน แต่เป็นการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งขัน

สารที่พอร์เตอร์ต้องการสื่อกับผู้เข้าร่วมประชุมปีนี้ เน้นว่า การสร้างคุณค่าร่วมเป็นกลยุทธ์ที่ไม่สามารถพัฒนาขึ้นจากการลอกแบบ Best Practices ให้ทัดเทียมหรือดีกว่าที่องค์กรอื่นมีอยู่ได้

สำหรับท่านผู้อ่านที่ยังไม่คุ้นกับการสร้างคุณค่าร่วม หรือ CSV ตามที่พอร์เตอร์ และเครเมอร์ นิยามขึ้น ขอขยายความให้เห็นภาพว่า ลักษณะของ CSV มิใช่การแบ่งปันหรือส่งมอบคุณค่าที่ได้เกิดขึ้นแล้วในรูปของการบริจาคหรือ Philanthropy เช่น การคืนกำไรสู่สังคมผ่านกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร แต่จะต้องมี ภาวะคู่กัน (Duality) ของคุณค่าที่เกิดขึ้นทั้งต่อองค์กรและสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน

ในการสร้างคุณค่าร่วม องค์กรจะต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ปัจจัยแรก คือ ความท้าทายหรือโอกาสทางธุรกิจ ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางธุรกิจในรูปของรายได้ ผลกำไร ส่วนแบ่งตลาด การสร้างตลาดใหม่ การลดค่าใช้จ่ายหรือลดความสูญเสียในด้านต่างๆ

ปัจจัยที่สอง คือ โจทย์หรือประเด็นปัญหาทางสังคมที่รอการแก้ไข ซึ่งนำไปสู่การสร้างผลลัพธ์ทางสังคมในรูปของการพัฒนา การแก้ไขเยียวยา การยกระดับคุณภาพชีวิต การรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม การลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างโอกาสหรือความเป็นธรรมทางสังคมในด้านต่างๆ

และปัจจัยที่สาม คือ การใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญและสินทรัพย์ที่องค์กรมีอยู่ อันนำมาซึ่งผลิตภาพที่ทำให้การส่งมอบผลลัพธ์ทั้งทางธุรกิจและทางสังคมมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลเต็มคุณค่า

ด้วยปัจจัยข้อหลังนี้ ทำให้การสร้างคุณค่าร่วม กลายเป็นกลยุทธ์ที่สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ขององค์กร ยิ่งเมื่อได้ผสมผสานเข้ากับปัจจัยที่หนึ่งและปัจจัยที่สองด้วยแล้ว คงไม่มี Best Practices ไหนที่องค์กรจะสามารถใช้อ้างอิงได้

พอร์เตอร์ยังได้ทำหน้าที่นำการเสวนาในช่วงถัดมา ในหัวข้อ “Supporting the Conditions to Create Business at its Best” ด้วยการเน้นย้ำว่าการสร้างคุณค่าร่วม เป็นกลยุทธ์ที่องค์กรใช้สร้างผลกำไรทางธุรกิจ ไปพร้อมกับการแก้ไขปัญหาทางสังคม ไม่ใช่การทำเพื่อการกุศลหรือตั้งข้อรังเกียจการทำเพื่อกำไรแต่อย่างใด พร้อมด้วยคู่หู มาร์ค เครเมอร์ ขึ้นกล่าวรับลูกปิดช่วงเสวนาของพอร์เตอร์ กับวลีที่ว่า การสร้างคุณค่าร่วม เป็นแกนของกลยุทธ์ธุรกิจ มิใช่เพียงการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม!

สำหรับท่านที่สนใจวีดีทัศน์บันทึกงานประชุมสุดยอด Shared Value Leadership Summit 2015 สามารถติดตามย้อนหลังได้ที่ http://sharedvalue.org/2015summit


[Original Link]