Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

การลงทุนสุนทาน ทางสายใหม่สร้างซีเอสอาร์ยั่งยืน


ในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรที่ผ่านมา มักให้ความช่วยเหลือผ่านการบริจาคเพื่อการกุศล ทั้งในรูปแบบของเงินทองและวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ส่วนใหญ่มักจะมีข้อจำกัดของการช่วยเหลือ คือการสนับสนุนเพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น โดยไม่สามารถให้แบบระยะยาวได้ จึงทำให้ไม่เกิดความยั่งยืนหรือบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว "สถาบันไทยพัฒน์" จึงมีการเปิดตัวแนวคิด การลงทุนสุนทาน (Philanthropic Investments) ที่จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการทำซีเอสอาร์อย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนทุนหรือมีทรัพยากรที่ทำให้สามารถใช้ในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง หรือจนกว่าโครงการ กิจกรรมนั้น ๆ จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

"ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ" ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ เล่าให้ฟังถึงแนวคิดการลงทุนสุนทาน หรือ Philanthropic Investments ว่า แนวคิดนี้อาจจะดูเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทยและสังคมโลก แต่แนวคิดนี้มีการพูดถึงกันอยู่บ่อยครั้ง เพียงแต่ว่าการก่อรูปของแนวคิดนี้ยังไม่ปรากฏชัดเจน


"โดยสเปกตรัมของการลงทุนโดยทั่วไป ในระดับล่างสุดจะเป็นการลงทุนแบบปกติทั่วไป (Traditional) ที่จะให้ความสำคัญกับผลประกอบการ ผลกำไรเป็นสำคัญ โดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ส่วนในระดับบนสุดของการลงทุนคือ การบริจาค (Philanthropy) จะเป็นการบริจาคเพี่อการกุศล หรือการทำบุญสุนทาน"

"จึงทำให้การลงทุนในระดับล่างสุดกับบนสุดของสเปกตรัมการลงทุนมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยด้านหนึ่งให้ความสำคัญกับผลตอบแทน ส่วนอีกด้านหนึ่งคือการนำเงินไปบริจาค สนับสนุนในประเด็นต่าง ๆ โดยไม่หวังผลตอบแทน ตัวอย่างองค์กรสาธารณกุศล มูลนิธิ องค์กรไม่แสวงผลกำไร"

"ดร.พิพัฒน์" กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ทั้งนี้ ในสเปกตรัมของการลงทุนยังมีการลงทุนที่ยั่งยืนที่อยู่ระหว่างการลงทุนแบบ Traditional และการบริจาค โดยในลำดับล่างสุดของสเปกตรัมการลงทุนที่ยั่งยืนจะเป็น การลงทุนแบบ Screening ที่ผู้ลงทุนจะคำนึง และคัดกรองว่าหลักทรัพย์หรือกองทุนที่จะเข้าไปลงทุนต้องเป็นหน่วยลงทุนที่ดี

"ในระดับต่อมาคือ การลงทุนแบบ ESG Integration จะเป็นการผนวกเอามิติทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล เข้าไปใช้ในการวิเคราะห์หรือการตัดสินใจในการลงทุน และระดับถัดมาคือ การลงทุนแบบ Theme-Based Investment ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ การลงทุนตามความสนใจในเรื่องที่ตัวเองอยากเข้าไปแก้ไขหรือช่วยเหลือ อาทิ เรื่องพลังงานทดแทน เรื่องน้ำ การเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพภูมิอากาศ"

"ส่วน การลงทุนแบบ Impact First หรือการลงทุนเพื่อสังคม (Social Investment) ซึ่งไม่หวังผลตอบแทนเท่ากับอัตราที่ได้ในตลาด โดยยอมลดผลตอบแทนที่ลดลงเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ในประเทศไทยมีการลงทุนเช่นนี้อยู่บ้าง เพียงแต่มีตัวเลือกในการลงทุนมีน้อย ซึ่งในต่างประเทศการลงทุนแบบนี้มีอัตราการเติบโตสูง อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกาที่เติบโตแบบก้าวกระโดด"

ส่วนด้านบนสุดของการลงทุนที่ยั่งยืน ที่สถาบันไทยพัฒน์เรียกว่าการลงทุนสุนทาน เป็นรูปแบบการลงทุนที่บวกรวมกับการทำบุญ โดยการนำเอาดอกผลที่ได้จากการลงทุน นำมาใช้ประโยชน์กับสาธารณะ ทั้งการมอบให้มูลนิธิ องค์กรการกุศล หรือนำเข้าไปพัฒนาชุมชน โดยลักษณะการลงทุนแบบนี้จะมีความแตกต่างกับส่วนอื่น ๆ เพราะเงินต้นที่ลงทุนไปจะยังคงอยู่

"หมายความว่า เราอาจจะมีทุนประเดิมในการเข้าไปช่วยสนับสนุนในหน่วยงาน องค์กร ชุมชนต่าง ๆ 10 ล้านบาท แต่สิ่งที่เอาไปใช้จ่ายและดำเนินงานไม่ใช่เงินทุน แต่นำเอาเงินที่เป็นดอกผลของการลงทุนนั้น ๆ มาใช้ในการทำประโยชน์ หรือมาใช้ในการดำเนินงานด้านซีเอสอาร์ การลงทุนแบบนี้จะสามารถใช้เงินต้นในการขยายความช่วยเหลือได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด"

"ดร.พิพัฒน์" กล่าวอีกว่า ในกรณีของต่างประเทศมีการลงทุนที่คล้ายกับการลงทุนสุนทาน คือความช่วยเหลือในรูปแบบของ Program-Related Investments (PRIs) ของมูลนิธิฟอร์ด โดยการให้สินเชื่อต้นทุนต่ำ การค้ำประกันสินเชื่อ การลงทุนในตราสารทุน ในลักษณะเชิงกลยุทธ์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้รับความช่วยเหลือ และเพื่อจัดหาเงินลงทุนให้แก่ความริเริ่มใหม่ ๆ ที่มีความเสี่ยง

ปัจจุบันนี้มูลนิธิฟอร์ดได้ให้ความช่วยเหลือในรูปแบบ PRIs แล้วเป็นจำนวนกว่า 560 ล้านเหรียญ ทั้งยังมีการจัดสรรเม็ดเงินลงทุนใหม่โดยเฉลี่ยราว 25 ล้านเหรียญต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนเช่นนี้ในแต่ละปีมีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่จะเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมขององค์กรสาธารณกุศลอย่างเป็นรูปธรรม

"เราพยายามจะจุดประกายและชี้ให้เห็นว่า รูปแบบการลงทุนสุนทานเป็นรูปแบบหนึ่งที่จะช่วยทำให้การพัฒนาชุมชน และสังคมสามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการเชื่อมโยงให้เห็นภาพ ซึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมาไทยพัฒน์มีการจัดกลุ่มหลักทรัพย์ ESG 100 ที่คัดเลือกบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งหมด ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งการลงทุนสุนทานอาจจะใช้ตัวอย่างการลงทุนในกลุ่ม ESG 100 ได้"

ตรงนี้หมายความว่า มูลนิธิหรือองค์กรสาธารณประโยชน์ นำเงินทุนหรือเงินต้นที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทต่าง ๆ เข้ามาลงทุน หรือแม้กระทั่งภาคธุรกิจที่ดำเนินงานด้านซีเอสอาร์ที่จะนำเอาเงินที่เป็นงบประมาณที่จะใช้ในการจัดกิจกรรมเพื่อมาลงทุน และนำเอาดอกผลที่ได้มาใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ โดยที่เงินต้นยังคงเหลือ และสามารถใช้ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

"ดร.พิพัฒน์" กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยพัฒน์ใช้โปรแกรม Bloomberg ในการวิเคราะห์การลงทุนในกลุ่มบริษัทที่มีความโดดเด่น ESG 100 โดยใช้ข้อมูลย้อนหลังเมื่อ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2558 พบว่า Total Return Index ของ SET Index ต่ำกว่า ESG 100 โดย SET Index อยู่ที่ 142.68 จุด ส่วน ESG 100 อยู่ที่ 199.11 จุด

"หากวิเคราะห์ในรายละเอียดแบบ Year to Date พบว่า ESG 100 จะอยู่ในอัตรา 24.42 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และถ้าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ผลตอบแทนจะอยู่ที่ 38.22% ในขณะที่เกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 31.28 ซึ่งถือว่าชนะ SET Index ในส่วนของ Total Return Index"

"ส่วนนี้เป็นการชี้ให้เห็นข้อมูลจริง โดยนำเอาบริษัท ESG 100 ที่ได้รับการคัดเลือกมาเข้าโมเดลโดยการเกลี่ย ยังไม่ได้ถ่วงน้ำหนักใด ๆ ตัว ESG 100 จะพบว่า ได้ผลตอบแทนที่ประมาณ 24% ซึ่งถือว่ามั่นคงพอที่จะนำเอาดอกผลไปใช้จ่ายในการช่วยเหลือสังคม"


ดังนั้น การบริจาคให้องค์กรสาธารณกุศล โดยมีเงินต้น 10 ล้าน และคาดว่าจะใช้งบประมาณในการดำเนินงานปีละ 2 ล้าน ฉะนั้น 5 ปีเงินที่ได้รับบริจาคมาจะหมดไป แต่เป็นการลงทุนสุนทานที่มีเงินตั้งต้น 10 ล้าน และเข้าไปลงทุนในบริษัทที่มี ESG 100 จากผลวิเคราะห์ย้อนหลัง 5 ปี ผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 24% แสดงว่าในแต่ละปีจะได้ผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาท สามารถนำเอาดอกผลที่ได้ไปใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้โดยเงินต้นคงอยู่

ทั้งนี้ บริษัทใดที่ใช้วิธีการลงทุนสุนทานมาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม อาจจะเรียกว่าบริษัทนั้นทำซีเอสอาร์ในรูปแบบควบคู่กับกระบวนการ หรือ CSR-along-process

จึงนับเป็นทางเลือกหนึ่งของการลงทุนที่สามารถนำเอาผลตอบแทนที่ได้มาช่วยเหลือสังคมแบบไม่รู้จบ โดยที่เงินต้นไม่สูญไปเหมือนกับการบริจาคที่จะสามารถพัฒนาและขับเคลื่อนสังคมได้อย่างยั่งยืน


[Original Link]