Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

การลงทุน + CSR

วีรญา ปรียาพันธ์

ไม่นานผ่านมา สถาบันไทยพัฒน์เปิดตัวแนวคิด "Philanthropic Investments" สำหรับเป็นเครื่องมือทางการลงทุนเพื่อใช้ต่อยอดการให้ความช่วยเหลือผ่านกิจกรรม CSR ในแบบยั่งยืน ซึ่งนับเป็นการเปิดมิติการลงทุนแนวใหม่ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน CSR ในสังคมไทย


เพราะเหตุว่าการให้ความช่วยเหลือในบริบทของ CSR ที่ผ่านมามักเป็นการบริจาคเพื่อการกุศลในรูปของการให้เงิน หรือวัตถุสิ่งของ (Philanthropy) มีข้อจำกัดตรงที่องค์กรผู้ให้ความช่วยเหลือ ทำได้เป็นครั้งคราว หรือในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว

เมื่อเงินบริจาคก้อนดังกล่าวถูกใช้หมดไปชุมชน หรือหน่วยงานภาคประชาสังคมที่ได้รับความช่วยเหลือ จำต้องขวนขวายหาทุน หรือทรัพยากรมาเติมในโครงการหรือภารกิจที่ริเริ่มขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องจนเห็นผล

แต่หากการเติมทุน หรือเงินบริจาคก้อนใหม่ไม่เกิดขึ้น โครงการหรือภารกิจดังกล่าวอาจต้องระงับหรือหยุดชะงักไปโดยปริยาย

แนวคิดของการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบการลงทุนที่นำดอกผลมาใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ที่สถาบันไทยพัฒน์เรียกว่า "การลงทุนสุนทาน" ว่าสามารถใช้ขจัดหรือลดทอนอุปสรรคหรือข้อจำกัดดังกล่าว เพื่อให้ชุมชนหรือหน่วยงานภาคประชาสังคมสามารถได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในระยะยาว จนโครงการหรือภารกิจบรรลุผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

การลงทุนสุนทานเป็นการนำเงินหรือทรัพย์สินมาเป็นทุนเพื่อหาดอกผลนำไปใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือแก่สังคมในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข การพัฒนาอาชีพ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยที่ทุนหรือเงินต้นยังคงอยู่ ซึ่งแตกต่างจากการทำบุญสุนทานหรือการบริจาค ที่เป็นการมอบเงินหรือทรัพย์สินนั้นให้เป็นความช่วยเหลือแก่สังคมโดยตรง

ตัวอย่างของการลงทุนสุนทานในต่างประเทศได้แก่ ความช่วยเหลือในรูปแบบ Program-Related Investments (PRIs) ของมูลนิธิฟอร์ด เช่น การให้สินเชื่อต้นทุนต่ำ การค้ำประกันสินเชื่อ การลงทุนในตราสารทุน ในลักษณะเชิงกลยุทธ์ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้รับความช่วยเหลือ และเพื่อจัดหาเงินลงทุนให้แก่ความริเริ่มใหม่ ๆ ที่มีความเสี่ยงสูง

โดยนับจนถึงปัจจุบัน มูลนิธิฟอร์ดได้ให้ความช่วยเหลือในรูปแบบ PRIs แล้วเป็นจำนวนกว่า 560 ล้านเหรียญ และมีการจัดสรรเม็ดเงินลงทุนใหม่โดยเฉลี่ยราว 25 ล้านเหรียญต่อปี

การเปลี่ยนผ่านจาก Philanthropy ในแบบการให้เปล่าหรือที่ต้องสูญเงินต้น มาสู่ Philanthropic Investments ในแบบการลงทุนหรือใช้ดอกผลจากเงินต้นที่นำไปลงทุนโดยไม่สูญเสียเงินต้น จะเป็นทางเลือกให้กับทั้งองค์กรธุรกิจในภาคเอกชน และองค์กรมูลนิธิในภาคประชาสังคม วางแผนการจัดสรรทุนหรือทรัพยากร สำหรับการให้ความช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่อง จนโครงการหรือภารกิจที่ริเริ่มขึ้น เห็นผลหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ การให้ความช่วยเหลือในรูปแบบ Philanthropic Investments คาดหมายว่าจะเป็นแนวโน้มที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น และเป็นพัฒนาการที่ต่อขยายจากการลงทุนที่รับผิดชอบ (Responsible Investments) ของกลุ่มผู้ถือครองสินทรัพย์และผู้ลงทุนที่ประสงค์จะใช้นโยบายการลงทุนของตนในการช่วยแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันกับการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน

หน่วยงานภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่ต้องการยกระดับจาก Philanthropy ในรูปแบบเดิม มาสู่ Philanthropic Investments สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ http://thaipat.org


[Original Link]