Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

สาระสำคัญของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030



เอกสารวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 (The 2030 Agenda for Sustainable Development) จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อมุ่งขจัดความยากจนในทุกมิติและทุกรูปแบบ สานต่อภารกิจที่ยังไม่บรรลุผลสำเร็จภายใต้เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) และเน้นการพัฒนาที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 มิติที่เอื้อต่อกันและแบ่งแยกมิได้

สาระสำคัญของเอกสารฉบับนี้ ประกอบด้วยส่วนที่เป็นอารัมภบท ปฏิญญา เป้าประสงค์การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป้าหมาย กลไกการดำเนินงาน การติดตามและทบทวนผล

ในส่วนที่เป็นอารัมภบท (Preamble) เป็นการสื่อสารวาระการพัฒนา ค.ศ.2030 โดยกล่าวถึงการขจัดความยากจนและการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้หลักการ 5 Ps ได้แก่ ประชาชน (People) โลก (Planet) ความมั่งคั่ง (Prosperity) สันติภาพ (Peace) และความเป็นหุ้นส่วน (Partnership)

ในส่วนที่เป็นปฏิญญา (Declaration) กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของวาระการพัฒนา ค.ศ.2030 และความมุ่งมั่นในการขจัดความยากจนในทุกมิติและทุกรูปแบบ บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ

ในส่วนที่เป็นเป้าประสงค์การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป้าหมาย (Sustainable Development Goals and Targets – SDGs & Targets) ประกอบด้วยเป้าประสงค์ (goals) 17 ข้อ และเป้าหมาย (targets) 169 ข้อ ครอบคลุมการพัฒนาที่ยั่งยืนในทั้ง 3 มิติ

ในส่วนที่เป็นกลไกการดำเนินงาน (Means of Implementation – MoI) และหุ้นส่วนระดับโลก (Global Partnership) กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา โดยครอบคลุมการระดมทุนจากภาครัฐภายในประเทศ การระดมทุนจากภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศ การให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance - ODA) การเสริมสร้างขีดความสามารถและการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นบทบาทการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วน

ในส่วนที่เป็นการติดตามและทบทวนผล (Follow-up and Review) กล่าวถึงการติดตามความก้าวหน้า ความสำเร็จ ความท้าทาย และช่องว่างในการดำเนินงาน โดยมีการทบทวนความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึงในทุกระดับ ทั้งในระดับชาติ โดยส่งเสริมให้ใช้เครื่องมือทางนโยบายที่มีอยู่ อาทิ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงการติดตามผลในระดับท้องถิ่น ในระดับภูมิภาค โดยให้ประเทศในภูมิภาคหารือร่วมกันและระบุถึงกลไกที่เหมาะสม โดยอาจใช้กลไกที่มีอยู่แล้วในภูมิภาค และในระดับโลก โดยใช้เวทีการหารือทางการเมืองระดับสูง (High-Level Political Forum – HLPF) ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมในกรอบสมัชชาสหประชาชาติเป็นเวทีหลักซึ่งมีการประชุมประจำทุกปี และจะมีการประชุมติดตามและทบทวนผลระดับโลกในระดับผู้นำครั้งแรกในปี ค.ศ. 2019

นอกจากนี้ ในเอกสารวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ฉบับดังกล่าว ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาขีดความสามารถของระบบการจัดเก็บสถิติในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อส่งเสริมการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย