บอร์ดยั่งยืน กับวาระ ‘สังคม 2020’
สัปดาห์ที่ผ่านมา (24 ก.ย) ได้มีคณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Network Board: SDNB) หรือ “บอร์ดยั่งยืน” เกิดขึ้นจากการรวมตัวของผู้ที่ผลักดันงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเจตนารมณ์ที่จะทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และสานเครือข่ายการทำงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย ทำงานเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในระดับสากล ภายใต้วาระ “สังคม 2020” หรือ Society 2020
ผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดยั่งยืนที่จัดตั้งขึ้น มาจากทั้งภาคเอกชน ภาคสังคม ภาควิชาการ และสื่อมวลชน ประกอบด้วย คุณศิริชัย สาครรัตนกุล ดร.วัฒนา โอภานนท์อมตะ ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล ดร.สุนทร คุณชัยมัง คุณสุกิจ อุทินทุ รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ และดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ รวมทั้งสิ้น 7 ท่าน โดยมีสถาบันไทยพัฒน์ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ
สืบเนื่องจากเวทีการประชุมสุดยอดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Summit) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ชาติสมาชิกสหประชาชาติ 193 ประเทศได้มีการรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 (The 2030 Agenda for Sustainable Development) ซึ่งรวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) 17 ข้อ เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2558
ทั้งวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ได้รับการรับรองโดยชาติสมาชิก จะมีอิทธิพลต่อทิศทางการพัฒนาทั้งของไทยและของโลกนับจากนี้ จวบจนปี พ.ศ.2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี
การขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในส่วนของประเทศไทย ควรจะมีการสร้างความเคลื่อนไหว (Movement) ที่ให้ภาคส่วนต่างๆ ตื่นตัวและมีช่องทางที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกัน คณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงได้เสนอแนวคิดการขับเคลื่อน “วาระ Society 2020” โดยมีกรอบเวลา 5 ปีในระยะแรก (สิ้นสุดปี ค.ศ.2020) ด้วยวิสัยทัศน์ “People -> Perform, Business -> Transform, State -> Reform” และจะมีการประเมินการดำเนินงาน เพื่อพิจารณาสู่การขับเคลื่อนในกรอบเวลา 10 ปี (สิ้นสุดปี ค.ศ.2030) ตามวาระสังคม 2030 ในระยะต่อไป
Mandate ในการทำงานของบอร์ดชุดนี้ มุ่งหวังตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development ในระดับสังคมวงกว้าง เน้นการพัฒนาที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 มิติที่เอื้อต่อกันและแบ่งแยกมิได้ อันมีขอบข่ายที่กว้างกว่าโจทย์การพัฒนาความยั่งยืน หรือ Sustainability Development ในระดับองค์กรหรือระดับห่วงโซ่ธุรกิจ
คณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเชิญชวนหน่วยงานที่สนใจทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่มีเจตนารมณ์ในการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกับวาระสังคม 2020 และสอดคล้องกับSDGs เข้าร่วมขับเคลื่อนวาระสังคม 2020 ในรูปของกลุ่มความร่วมมือผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่าย (Multi-Stakeholder Group) เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ได้แก่ (1) ความยากจน (2) ความหิวโหย (3) สุขภาวะ (4) การศึกษา (5) ความเท่าเทียมทางเพศ (6) น้ำและการสุขาภิบาล (7) พลังงาน (8) เศรษฐกิจและการจ้างงาน (9) โครงสร้างพื้นฐานและการปรับให้เป็นอุตสาหกรรม (10) ความเหลื่อมล้ำ (11) เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ (12) แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (13) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (14) ทรัพยากรทางทะเล (15) ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (16) สังคมและความยุติธรรม (17) หุ้นส่วนความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดผล
ทั้งนี้ บทบาทของคณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเน้นการทำหน้าที่เป็นกลไกประสานหน่วยงาน โดยหลีกเลี่ยงการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่จะทำงานในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือเพื่อตอบโจทย์ SDGs ในระดับที่สูงขึ้น ภายใต้หลักการ 5Ps ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ ประชาชน (People) โลก (Planet) ความมั่งคั่ง (Prosperity) สันติภาพ (Peace) และความเป็นหุ้นส่วน (Partnership)
ด้วยแพลตฟอร์มดังกล่าว คาดหวังจะให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่สามารถตอบโจทย์ทั้งการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่นและในระดับประเทศ ตามวาระสังคม 2020 ที่ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคและในระดับโลก ตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ของสหประชาชาติด้วย
[Original Link]