SDG-Enhanced Report
Introduction | Approach | Mapping Tools | Recognition |
เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2558 องค์การสหประชาชาติ โดยชาติสมาชิก 193 ประเทศ ได้ให้การรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) จำนวน 17 ข้อ ที่ได้จัดทำขึ้น ต่อจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals - MDGs) จำนวน 8 ข้อ ที่สิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2558 ทั้งนี้ เพื่อใช้สานต่อภารกิจที่ยังไม่บรรลุผลสำเร็จภายใต้เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ และเพื่อใช้เป็นเป้าหมายสำหรับการพัฒนาที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 มิติที่เอื้อต่อกันและแบ่งแยกมิได้ นับจากนี้ไป จวบจนปี พ.ศ.2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปีข้างหน้า
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ประกอบด้วย (1) ความยากจน (2) ความหิวโหย (3) สุขภาวะ (4) การศึกษา (5) ความเท่าเทียมทางเพศ (6) น้ำและการสุขาภิบาล (7) พลังงาน (8) เศรษฐกิจและการจ้างงาน (9) โครงสร้างพื้นฐานและการปรับให้เป็นอุตสาหกรรม (10) ความเหลื่อมล้ำ (11) เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ (12) แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (13) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (14) ทรัพยากรทางทะเล (15) ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ (16) สังคมและความยุติธรรม (17) หุ้นส่วนความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดผล
ภาคเอกชน ถือเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการปรับแนวการดำเนินงานให้มีความเชื่อมโยงกับการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เกิดเป็นผลได้ทางธุรกิจและผลลัพธ์เชิงบวกแก่สังคมโดยรวมไปพร้อมกัน
เครื่องมือหนึ่งที่ภาคเอกชนสามารถนำมาใช้ในการแสดงให้เห็นถึงการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของกิจการ คือ การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานผ่านรายงานแห่งความยั่งยืน หรือ Sustainability Report ที่หลายองค์กรเผยแพร่อยู่ในปัจจุบัน ด้วยการเชื่อมโยงให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในบางเป้าหมายที่สำคัญซึ่งองค์กรได้คัดเลือก หรือในเป้าหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในรูปแบบที่สถาบันไทยพัฒน์ เรียกว่า รายงานเพิ่มพูนความยั่งยืน หรือ Enhanced Sustainability Report
ข้อมูลเพิ่มเติม: เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)