สุดโค้งแรกการพัฒนาที่ยั่งยืน
เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ในเดือนกันยายน พ.ศ.2543 องค์กรสหประชาชาติ ได้จัดการประชุมสุดยอดแห่งสหัสวรรษ ณ สำนักงานใหญ่ กรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ที่ซึ่งผู้นำจาก 189 ประเทศสมาชิก ได้รับรองปฏิญญาแห่งสหัสวรรษ และประกาศร่วมกันที่จะดำเนินตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals - MDGs)
อาจกล่าวได้ว่า MDGs เป็นเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืนในโค้งแรก หรือ First S (Sustainability) Curve ที่ใช้เวลาเดินทาง 15 ปี และกำลังสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2558 นี้
ทางโค้ง MDGs ประกอบไปด้วย 8 แยก (เป้าประสงค์) 18 ตรอก (เป้าหมาย) และ 48 ซอย (ตัวชี้วัด)
ในส่วนของประเทศไทย ได้พัฒนาต่อยอด MDGs ให้มีความท้าทายยิ่งขึ้น ด้วยแนวคิด MDG ‘Plus’ ภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติ เพื่อเน้นความสำคัญของการเคลื่อนต่อไปข้างหน้าหลังจากผ่านตรอก (บรรลุเป้าหมาย) ที่กำหนดแล้ว
ทั้งนี้ ทางแยก (เป้าประสงค์) จะเป็นตัวกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ยึดถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก ขณะที่ เป้าหมาย MDG ‘Plus’ จะเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศสามารถแปลความหมายตามสภาพการณ์และบริบทเฉพาะ และเป็นการแสดงการรับรู้ว่าเป้าหมายแรกเป็นเป้าหมายพื้นฐานมากกว่าเป็นเพดาน และไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่พิเคราะห์ยุทธศาสตร์ MDG ‘Plus’ โดยเพิ่มตรอก (เป้าหมาย) พิเศษขึ้น เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2546
ในโค้งแรกของการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ประเทศไทยใช้เวลาเดินทางมา 15 ปี มาดูกันว่า ในแต่ละแยก (เป้าประสงค์) เราได้ผ่านตรอก (บรรลุเป้าหมาย) มากน้อยเพียงใด
ในแยกที่ 1 การขจัดความยากจนและความหิวโหย มี 2 ตรอก คือ (1) การลดสัดส่วนประชากรยากจนลงครึ่งหนึ่งในช่วงปี พ.ศ.2553-2558 และ (2) การลดสัดส่วนประชากรที่หิวโหยลงครึ่งหนึ่งในช่วงปี พ.ศ.2553-2558 ปรากฏว่า ไทยผ่านทั้ง 2 ตรอก
ในแยกที่ 2 การให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษา มี 1 ตรอก คือ การให้เด็กทุกคนทั้งชายและหญิงสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา ภายในปี พ.ศ.2558 ปรากฏว่า ไทยไม่ผ่านตรอกนี้
ในแยกที่ 3 การส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและบทบาทสตรี มี 1 ตรอก คือ การขจัดความไม่เท่าเทียมทางเพศในการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ภายในปี พ.ศ.2548 และในทุกระดับการศึกษา ภายในปี พ.ศ.2558 ปรากฏว่า ไทยผ่านตรอกนี้
ในแยกที่ 4 การลดอัตราการตายของเด็ก มี 1 ตรอก คือ การลดอัตราการตายของเด็กอายุต่ากว่าห้าปีลง สองในสาม ในช่วงปี พ.ศ.2533-2558 ปรากฏว่า ไทยไม่ผ่านตรอกนี้
ในแยกที่ 5 การพัฒนาสุขภาพของสตรีมีครรภ์ มี 1 ตรอก คือ การลดอัตราการตายของมารดาลง สามในสี่ ในช่วงปี พ.ศ.2533-2558 ปรากฏว่า ไทยไม่ผ่านตรอกนี้
ในแยกที่ 6 การต่อสู้กับโรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคสำคัญอื่นๆ มี 2 ตรอก คือ (1) การชะลอและลดการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ภายในปี พ.ศ.2558 และ (2) การป้องกันและลดการเกิดโรคมาลาเรียและโรคสำคัญอื่นๆ ภายในปี พ.ศ.2558 ปรากฏว่า ไทยไม่ผ่านทั้ง 2 ตรอก
ในแยกที่ 7 การรักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มี 3 ตรอก คือ (1) การกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาที่ยั่งยืนและลดการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2) การลดสัดส่วนประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดและส้วมที่ถูกสุขลักษณะลงครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ.2558 และ (3) การยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรในชุมชนแออัด 100 ล้านคนทั่วโลก ภายในปี พ.ศ.2563 ปรากฏว่า ไทยผ่าน 1 ตรอก (เรื่องแหล่งน้ำและส้วม) และยังไม่ผ่าน 2 ตรอก
ในแยกที่ 8 การส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในประชาคมโลก มี 7 ตรอก คือ (1) การพัฒนาระบบการค้าและการเงินให้เป็นระบบเสรี ตั้งอยู่บนกฎระเบียบ คาดการณ์ได้ และไม่แบ่งแยก (2) การให้ความสำคัญกับประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด (3) การให้ความสำคัญกับประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล และประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็กที่เป็นเกาะ (4) การแก้ปัญหาหนี้ในประเทศกำลังพัฒนาผ่านนโยบายระดับประเทศและระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว (5) การร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนาจัดทำและนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติเพื่อให้เยาวชนได้รับงานที่มีคุณค่าและมีประสิทธิภาพ (6) การร่วมมือกับบริษัทเวชภัณฑ์ดำเนินการให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงยาที่จำเป็น (7) การร่วมมือกับภาคเอกชนดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีและการสื่อสาร ปรากฏว่า ไทยผ่านตรอก (1)-(4) ไม่มีข้อมูลในตรอก (5) ไม่ผ่านในตรอก (6) และผ่านบางส่วนในตรอก (7)
หากไม่ได้นำน้ำหนักความสำคัญของแต่และตรอกมาพิจารณา โดยรวมแล้วไทยผ่าน 8 ตรอกเศษ ไม่ผ่าน 8 ตรอกเศษ และไม่มีข้อมูล 1 ตรอก ทำให้ความสำเร็จของการเดินทางในโค้งแรกของการพัฒนาที่ยั่งยืน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46 ของเป้าหมายทั้งหมด ถือว่า หลุดโค้ง!
(ข้อมูลอ้างอิง: สภาพัฒน์, รายงานผลการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ ปี 2558)
[กรุงเทพธุรกิจ]