Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

โมเดลธุรกิจ เพื่อแก้ปัญหาสังคม

Thailand Social Business Initiative (TSBI)

แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Business ของ "ศ.มูฮัมมัด ยูนุส" ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคมในหลายประเทศ

แม้ธุรกิจเพื่อสังคม จะมีความเหมือนกับธุรกิจปกติทั่วไป ในแง่ของการที่กิจการอยู่ได้ด้วยการแสวงหากำไร แต่ธุรกิจเพื่อสังคมมีความต่างจากธุรกิจทั่วไปในหลายประการ เริ่มตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ และบริการของธุรกิจเพื่อสังคม จะไม่ใช่สินค้าตลาดทั่วไป ที่มุ่งสนองความต้องการของผู้บริโภคเป็นสำคัญ แต่จะถูกผลิตหรือออกแบบให้ใช้งาน เพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ

ขณะที่ในกระบวนการดำเนินงานของธุรกิจเพื่อสังคม เป็นไปเพื่อส่งมอบประโยชน์ให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งผู้ส่งมอบ ผู้จัดจำหน่าย ผู้ประกอบการรายย่อย และพนักงาน ตลอดห่วงโซ่คุณค่าอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจปกติ ที่คำนึงถึงการส่งมอบประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ

ด้วยโมเดล Social Business ที่ผนวกโจทย์การแก้ปัญหาสังคมเข้ากับพลังของการประกอบธุรกิจ ยูนุสได้บุกเบิกการทำงานตามแนวทางดังกล่าวด้วยตัวเอง มาเป็นเวลากว่า 30 ปี จนเกิดเป็นตัวอย่างกว่า 40 ธุรกิจ เฉพาะในบังกลาเทศที่เป็นบ้านเกิดของยูนุส และในจำนวนนั้น มีธุรกิจที่พัฒนาเติบโตจนติดอยู่ในกลุ่มกิจการขนาดใหญ่สุดของประเทศ จนสหประชาชาติ สหภาพยุโรป และองค์การระหว่างประเทศทั้งในสังกัดภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ต่างให้การยอมรับแนวคิด Social Business นี้อย่างกว้างขวาง

พื้นที่ของธุรกิจเพื่อสังคม จะตกอยู่ในบริเวณที่เป็นกึ่งกลางระหว่างการทำธุรกิจที่แสวงหากำไรกับการช่วยเหลือสังคมโดยไม่แสวงกำไร เป็นการนำข้อดีของธุรกิจในส่วนที่ต้องเลี้ยงตัวเองได้ ด้วยการสร้างรายได้ที่เพียงพอคุ้มค่าใช้จ่ายดำเนินงาน กับข้อดีขององค์กรสาธารณประโยชน์ในส่วนที่ยึดความมุ่งประสงค์ทางสังคมเป็นตัวตั้ง มาหลอมรวมให้เป็น "การประกอบธุรกิจเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาสังคม"

เมื่อพิจารณาสเปกตรัมของการประกอบการในฝั่งองค์กรสาธารณประโยชน์ยังมีองค์กรประเภทเอ็นจีโอที่มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการที่มุ่งแก้ไขปัญหาสังคมในราคาต่ำ โดยได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานบางส่วนจากการบริจาค เพื่อชดเชยส่วนที่ขาดทุนจากการดำเนินงาน

ขณะที่ในฝั่งองค์กรธุรกิจ ยังมีธุรกิจประเภทที่เน้นการสร้างคุณค่าร่วมจากการขายสินค้าและบริการที่มีส่วนในการแก้ไขปัญหาสังคมในราคาที่คุ้มต้นทุนค่าใช้จ่ายดำเนินงานโดยมุ่งสร้างให้เกิดผลได้สูงสุดทั้งในทางธุรกิจและในทางสังคมไปพร้อมกัน

ส่วนโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมจะเน้นที่การสร้างผลได้สูงสุดทางสังคมแต่ผลได้ในทางธุรกิจมุ่งหวังเพียงเพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้ โดยสินค้าและบริการที่จำหน่ายจะเป็นไปเพื่อการแก้ไขปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ ด้วยราคาต่ำหรือตามกำลังซื้อของคนในระดับฐานราก แต่ไม่ขาดทุน

หมายเหตุ - สำหรับการนำโมเดล Social Business มาขับเคลื่อนในประเทศไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้ Yunus Center AIT และบริษัท อิมเมจพลัส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันไทยพัฒน์ ในการก่อตั้ง "Thailand Social Business Initiative (TSBI)" ขึ้น เพื่อส่งเสริมความริเริ่มด้านธุรกิจเพื่อสังคมตามแนวคิดของยูนุส ในลักษณะที่ไม่สูญเงินต้น-ไม่ปันผลกำไร (non-loss, non-dividend) โดยคาดหวังที่จะให้เกิดทั้ง ตัวอย่าง-ตัวแบบ-ตัวช่วย ของการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย ภายใต้ความริเริ่มดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมนับจากนี้ไป


[Original Link]