Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ไทยพัฒน์ แถลงทิศทาง CSR ปี 59 ประกาศรุก ‘Social Business’ จับมือธุรกิจทำ CSR แบบไม่สูญเงินต้น


สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยทิศทาง CSR ปี 59 เอกชนไทยต้องปรับโจทย์ธุรกิจเพื่อรองรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามเป้าหมายโลก หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) สร้างคุณค่าในแบบ Win-Win ด้วยโมเดล Social Business แบบไม่สูญเงินต้น


ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กล่าวในงานแถลงทิศทาง CSR ปี 2559 ที่จัดขึ้นวันนี้ (10 มีนาคม 2559) ว่า “โลกกำลังก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs เป็นแผนที่นำทางนับจากปี 2559 นี้ไปอีก 15 ปี ทำให้องค์กรธุรกิจที่เห็น SDGs เป็นโอกาส จะนำกิจการของตนเข้ามีส่วนร่วม ด้วยการปรับโจทย์ทางธุรกิจให้มีความสอดคล้องกับ SDGs สร้างคุณค่าให้กับทั้งธุรกิจและสังคมไปควบคู่กัน ทิ้งระยะห่างจากองค์กรที่ยังมองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจของตนเองกับ SDGs ไปอีกหลายช่วงตัว

สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า “6 ทิศทาง CSR ปี 2559: New SD Paradigm” เผยแพร่ให้แก่ผู้แทนขององค์กรธุรกิจและหน่วยงานที่เข้าร่วมงานในวันนี้กว่า 200 คน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับโจทย์เพื่อรองรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ในระดับสากล ให้สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ เกิดผลลัพธ์ที่เป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ธุรกิจและสังคมไปพร้อมกัน

หนึ่งในทิศทาง CSR ปี 2559 ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับกิจการที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนและความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันรวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ อาทิ กิจการในกลุ่มพลังงาน กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก คือ ความจำเป็นในการปรับกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อรักษาหรือคงไว้ซึ่งเสถียรภาพของกิจการ โดยเปลี่ยนจุดโฟกัสจากกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการเติบโต มาสู่กลยุทธ์มุ่งความยั่งยืนที่ตอบสนองต่อมิติทางธุรกิจ โดยใช้ประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยหรือโอกาสในการเสริมหนุนขีดความสามารถทางการแข่งขัน และการได้มาซึ่งกำไรที่มั่นคง

ส่วนกิจการที่ดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในรูปแบบกิจกรรมเพื่อสังคม ก็จำต้องปรับวงเงินงบประมาณให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้การทำ CSR ในแบบที่ไม่สูญเงินต้น หรือแบบที่ใช้เงินงบประมาณ CSR ก้อนเดิม แต่หมุนเวียนทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้หลายรอบ กลายเป็นทางเลือกที่หลายกิจการจะพิจารณานำมาใช้ในปี 2559 โดยหนึ่งในทางเลือกนั้น คือ โมเดล Social Business ตามแนวคิดของ ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส


ในงานแถลงทิศทาง CSR ปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ จึงได้ร่วมมือกับ Thailand Social Business Initiative (TSBI) จัดให้มีการเสวนาเรื่อง “Social Business: A Solution to achieve SDGs” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการที่จะนำ Social Business มาใช้แก้ไขปัญหาในสังคมไทย และใช้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล โดยได้รับเกียรติจาก Dr.Faiz Shah ผู้อำนวยการศูนย์ยูนุสประจำเอไอที และ ดร.สุนทร คุณชัยมัง คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงาน Social Business ของกระทรวงมหาดไทย มาเป็นวิทยากรร่วมการเสวนาในครั้งนี้

ในต่างประเทศ การประกอบธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมมีความเคลื่อนไหวที่ก่อตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการสำรวจตัวเลขการลงทุนในกิจการที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการสังคมของ Global Sustainable Investment Alliance (GSIA) เมื่อปี 2557 ระบุว่า มีเม็ดเงินที่ลงทุนในกิจการที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการสังคม กระจายอยู่ทั่วโลกราว 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 จากการสำรวจในปี 2555

ในสหภาพยุโรป มีผู้ประกอบการสังคม อยู่จำนวน 2 ล้านราย ที่สร้างให้เกิดงาน 11 ล้านตำแหน่ง และในทุกๆ 4 รายของผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่เกิดขึ้น หนึ่งในนั้นจะเป็นผู้ประกอบการสังคม โดยเมื่อปี 2554 คณะกรรมาธิการยุโรป ได้ก่อตั้ง Social Business Initiative ขึ้นเพื่อพัฒนาภาคส่วนที่เป็นผู้ประกอบการสังคม ซึ่งมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็นร้อยละ 10 ของจีดีพีในสหภาพยุโรป

ปัจจุบัน หลายประเทศได้มีการพัฒนารูปแบบของกิจการเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม ในหลายรูปแบบ อาทิ Community Interest Company (CIC), Benefit Corporation (B-Corp), Low-profit Limited Liability Company (L3C), Social Purpose Corporation (SPC), Flexible Purpose Corporation (FPC)

ในประเทศไทย เป็นที่คาดหมายว่า จะมีการนำแนวคิด Social Business ตามนิยามของยูนุส คือ เป็นธุรกิจที่ไม่สูญเงินต้น-ไม่ปันผลกำไร (non-loss, non-dividend) มาใช้เป็นกลไกในการช่วยเหลือผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาส รวมถึงใช้เป็นเครื่องมือในการขจัดปัญหาความยากจน การว่างงาน และก๊าซเรือนกระจก ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นับจากปีนี้เป็นต้นไป

สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำหนังสือชื่อ “Creating Social Business: สร้างธุรกิจเพื่อสังคม” เพื่อเป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการและองค์กรธุรกิจทำความเข้าใจรูปแบบของธุรกิจเพื่อสังคมตามแนวทางของยูนุส เจ้าของแนวคิด Social Business ฉบับต้นตำรับ พร้อมตัวอย่างของธุรกิจเพื่อสังคม จำนวน 10 กิจการ ที่เกิดขึ้นในบังกลาเทศ จากการเข้าร่วมดำเนินงานของกิจการกรามีนที่ยูนุสเป็นผู้บุกเบิกขึ้น โดยผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ที่สถาบันไทยพัฒน์ (ไม่มีค่าใช้จ่าย) หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ www.thaipat.org


สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สถาบันไทยพัฒน์ ปิยเลขา ไหล่แท้ โทร 0-2930-5227