Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

6 คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับการประเมิน ESG100 ปี 2016


การประเมินเพื่อคัดเลือกหลักทรัพย์ในกลุ่ม ESG100 ใช้เกณฑ์อะไร และแตกต่างจากการประเมินในปีที่แล้ว อย่างไร
บริษัทจดทะเบียน สามารถรับข้อมูลผลการประเมินที่แสดงรายละเอียดของการประเมินได้หรือไม่
บริษัทจดทะเบียนจะสามารถเข้ามาอยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 นี้ได้อย่างไร และต้องส่งข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการพิจารณาคัดเลือกอย่างไรบ้าง
รายชื่อหลักทรัพย์ในกลุ่ม ESG100 มีอายุปีต่อปีใช่หรือไม่
รายชื่อหลักทรัพย์ในกลุ่ม ESG100 มีการจัดอันดับ (Ranking) ด้วยหรือไม่
บริษัททั่วไปที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีโอกาสได้รับการประเมิน ESG ด้วยหรือไม่

 


การประเมินเพื่อคัดเลือกหลักทรัพย์ในกลุ่ม ESG100 ใช้เกณฑ์อะไร และแตกต่างจากการประเมินในปีที่แล้ว อย่างไร

ในปีที่แล้ว การประเมินมุ่งไปที่การพิจารณาประเด็นด้าน ESG ของบริษัทที่มีความโดดเด่น โดยอ้างอิงจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ อาทิ ข้อมูลการพิจารณารางวัลบริษัทจดทะเบียนด้านความรับผิดชอบต่อสังคมยอดเยี่ยม และรางวัล CSRI Recognition ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI)

สำหรับในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูล ESG แบบบูรณาการ ผนวกเข้ากับข้อมูลทางการเงิน ที่เรียกว่า Integrated ESG Assessment เพื่อให้สะท้อนผลตอบแทนการลงทุนหรือตัวเลขผลประกอบการที่สัมพันธ์กับการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท ด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ การวิเคราะห์อุตสาหกรรม กลยุทธ์องค์กร และรายงานทางการเงิน

การประเมิน ESG แบบบูรณาการ

โดยในส่วนการวิเคราะห์อุตสาหกรรม เป็นการพิจารณาประเด็นด้าน ESG ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรม สำหรับในส่วนการวิเคราะห์กลยุทธ์องค์กร เป็นการพิจารณาวิธีการที่บริษัทใช้ระบุและจัดการกับโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน ESG และในส่วนการวิเคราะห์รายงานทางการเงิน เป็นการพิจารณาประเด็นด้าน ESG ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการขององค์กร

ทำให้การประเมินในปีนี้ จึงเป็นการยกระดับจากการวิเคราะห์ข้อมูลด้าน ESG แบบเอกเทศ มาสู่การวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานด้าน ESG ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับผลประกอบการ ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนในมิติของการลงทุนที่ยั่งยืนว่า บริษัทที่มี ESG ดี จะสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีด้วย

ส่วนเกณฑ์เบื้องต้นที่ใช้ในการคัดเลือกหลักทรัพย์ ESG100 ปี 2559 นี้ ประกอบด้วย เกณฑ์ผลการดำเนินงานของบริษัทซึ่งต้องมีผลประกอบการที่เป็นกำไรติดต่อกันสองรอบปีบัญชีล่าสุด เกณฑ์การปลอดจากการกระทำความผิดโดยที่บริษัทหรือคณะกรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัทต้องไม่ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษหรือเปรียบเทียบปรับในรอบปีประเมิน และเกณฑ์การกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ของบริษัทเป็นไปตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด เป็นต้น

 


บริษัทจดทะเบียน สามารถรับข้อมูลผลการประเมินที่แสดงรายละเอียดของการประเมินได้หรือไม่

เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาระดับการเปิดเผยข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียน สถาบันไทยพัฒน์ โดยหน่วยงาน ESG Rating มีแผนที่จะเปิดเผยรายละเอียดของการประเมิน ในรูปแบบของรายงานวิเคราะห์เชิงลึกให้แก่บริษัทจดทะเบียนที่สนใจสามารถนำผลการประเมินไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนพัฒนาปรับปรุงเพิ่มระดับการดำเนินการที่สอดคล้องกับกรอบหรือมาตรฐานที่เป็นสากล โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2559 นี้

 


บริษัทจดทะเบียนจะสามารถเข้ามาอยู่ในกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 นี้ได้อย่างไร และต้องส่งข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการพิจารณาคัดเลือกอย่างไรบ้าง

การพิจารณาเพื่อคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนเข้าในยูนิเวอร์ส ESG100 สถาบันไทยพัฒน์ได้ใช้ข้อมูล ESG ที่บริษัทเผยแพร่ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เป็นสำคัญ รวมถึงข้อมูล ESG ที่มีการเปิดเผยหรือปรากฏต่อสาธารณะ ในรายงานประจำปี (แบบ 56-2) หรือในรายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) หรือในรายงานอื่น ตามแต่กรณี โดยไม่ใช้แบบสำรวจข้อมูลหรือแบบสอบถามใดๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนได้จัดทำข้อมูลเพื่อเปิดเผยในแบบ 56-1 หรือ 56-2 ตามรายการที่กำหนดไว้อย่างครบถ้วน และเป็นไปตามประกาศของสำนักงาน ก.ล.ต. อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง

นั่นหมายความว่า บริษัทจดทะเบียนควรให้ความสำคัญกับการดำเนินงาน CSR-in-process ภาคปฏิบัติ เพื่อให้ได้ผลการดำเนินงานที่เป็นภาคข้อมูล ESG สำหรับการเปิดเผยต่อสาธารณะตามช่องทางปกติที่กำหนด โดยไม่มีความจำเป็นต้องส่งข้อมูลใด ๆ เพิ่มเติม มายังสถาบันไทยพัฒน์ สำหรับใช้ในการประเมิน ESG100 แต่อย่างใด

 


รายชื่อหลักทรัพย์ในกลุ่ม ESG100 มีอายุปีต่อปีใช่หรือไม่

รายชื่อบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม ESG 100 จะมีการปรับปรุงทุกปี โดยมีกำหนดการที่จะประกาศภายในเดือนเมษายนของทุกปี ภายหลังจากการส่งแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีในเดือนมีนาคมของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่มีรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดในเดือนธันวาคม เพื่อให้ข้อมูลที่ใช้ในการพิจารณาประเมินมีความเป็นปัจจุบันมากสุด

 


รายชื่อหลักทรัพย์ในกลุ่ม ESG100 มีการจัดอันดับ (Ranking) ด้วยหรือไม่

รายชื่อบริษัทจดทะเบียนกลุ่ม ESG 100 ในปัจจุบัน ยังไม่มีการจัดอันดับ (Ranking) จากบริษัทที่มีความโดดเด่นด้าน ESG เรียงจากน้อยไปมาก หรือมากไปน้อย โดยรายชื่อที่ปรากฏเป็นการเรียงลำดับตามตัวอักษร หรือจัดตามกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งมิได้มีนัยในแง่ของอันดับความโดดเด่นด้าน ESG ระหว่างบริษัท แต่อย่างใด

ทั้งนี้ หากฐานข้อมูลด้าน ESG ที่ใช้ในการประเมินมีความสมบูรณ์เพียงพอต่อการจัดอันดับเมื่อใด สถาบันไทยพัฒน์ โดยหน่วยงาน ESG Rating ก็จะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดอันดับ (Ranking) บริษัทที่มีความโดดเด่นด้าน ESG ในระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป

 


บริษัททั่วไปที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีโอกาสได้รับการประเมิน ESG ด้วยหรือไม่

เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาความยั่งยืนและการเปิดเผยข้อมูล ESG ของบริษัทและองค์กรธุรกิจทั่วไป สถาบันไทยพัฒน์ โดยหน่วยงาน ESG Rating มีแนวคิดที่จะสำรวจและประมวลวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือเรียกว่า องค์กรธุรกิจวิถียั่งยืน SME100 เพื่อรองรับความต้องการของวิสาหกิจที่มิได้เป็นบริษัทจดทะเบียน สามารถที่จะนำผลการประเมินไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนพัฒนาปรับปรุงธุรกิจของตนเอง ให้สอดรับกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทที่เป็นสากล โดยสถาบันไทยพัฒน์จะเริ่มดำเนินการสำรวจในปี พ.ศ.2559 และจะจัดทำประมวลรายชื่อวิสาหกิจกลุ่ม SME100 สำหรับการเผยแพร่ในโอกาสต่อไป