Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

เข้าข่าย-เข้าใจ-เข้าถึง กับการพัฒนาที่ยั่งยืน


เศรษฐกิจพอเพียงได้ถูกหยิบยกมาเป็นปรัชญาในการวางแนวการบริหารราชการแผ่นดินในทุกรัฐบาล ในมุมหนึ่งควรถือว่าเป็นเรื่องดี ที่ทำให้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงถูกถ่ายทอดขยายวงออกไปสู่ประชาชนในทุกระดับ โดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะในวงของนักวิชาการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามแนวทางพระราชดำริดังกล่าว แต่ในอีกทางหนึ่ง ก็ได้ทำให้เกิดการตีความหมายปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและมีความเข้าใจไปตามแบบของตนเอง จนนำไปสู่การปฏิบัติหรือการประยุกต์ใช้ที่แตกต่างกันตามที่ตนเองเข้าใจ

อุปสรรคในเรื่องของการประยุกต์ใช้ที่กล่าวไว้ข้างต้น มิได้หมายความว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่สามารถนำมาใช้กับนอกภาคเกษตรกรรมได้ แต่เป็นเพราะยังไม่มีผู้ที่วิจัย ทดลอง พิสูจน์ บันทึกผล และนำเสนอเป็นทฤษฎีได้อย่างเป็นระบบ ดังเช่นในกรณีของเกษตรทฤษฎีใหม่ ทั้งที่ในภาคส่วนอื่น อาทิ ภาคเอกชนได้มีการดำเนินงานที่อ้างอิงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และปรากฏให้เห็นว่ามีผลสัมฤทธิ์ตามจุดหมายในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเช่นกัน

ปัญหาเรื่องความเป็นไปได้ในการประยุกต์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคเอกชน ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องการสืบค้นเพื่อยืนยันคำตอบ แต่เป็นการค้นหาวิธีการหรือรูปแบบของการประยุกต์ว่ามีขั้นตอนและรายละเอียดอย่างไร ที่นำไปสู่ผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย สอดคล้องตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้มากที่สุด

ในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้มีการจำแนกระดับของความพอเพียงเป็นสองแบบด้วยกัน คือ เศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน ซึ่งเทียบเคียงได้กับความพอเพียงในระดับกิจการหรือบริษัท ที่เน้นถึงการดำรงอยู่ของกิจการหรือความอยู่รอดในธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียในองค์กรเป็นเบื้องต้น คำนึงถึงการดำเนินกิจการโดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ภายในองค์กรเป็นหลัก พร้อมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนากิจการให้เจริญเติบโตก้าวหน้า โดยยึดหลักของความถูกต้องโปร่งใส และการมีจริยธรรมที่ดี

ขณะที่เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า เทียบเคียงได้กับความพอเพียงในระดับกลุ่มธุรกิจและเครือข่าย ที่เน้นถึงการรวมกลุ่มและการประสานความร่วมมือกัน ดำเนินกิจการเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มและส่วนรวม นอกเหนือจากประโยชน์ของกิจการ มีการแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามกำลังและความสามารถ ตลอดจนการประสานงาน และประสานประโยชน์กันบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน ด้วยเงื่อนไขของคุณธรรม และการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งในและนอกกิจการอย่างเหมาะสมเป็นธรรม

สำหรับเงื่อนไขคุณธรรมในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นเหตุให้เกิดความยั่งยืนในธุรกิจนั้น ประกอบด้วยคุณธรรมที่ประกอบอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน ได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต สำหรับรองรับสนับสนุนวิชาความรู้ เพื่อนำพาไปสู่เป้าหมายได้อย่างถูกต้องเที่ยงตรง ส่วนที่สอง คือ ความอดทน มีความเพียร ประกอบการงานด้วยความตั้งใจ ไม่ละเลย ไม่ทอดทิ้ง เป็นความเพียรที่มีลักษณะกล้าแข็งไม่ขาดสาย มีความหนักแน่นอดทน ไม่ท้อถอย ทำให้การดำเนินงานรุดหน้าเรื่อยไป และส่วนที่สาม คือ ความรอบคอบระมัดระวัง ที่จะพิจารณาเรื่องต่างๆ ให้กระจ่างแจ้งในทุกแง่ทุกมุม ก่อนที่จะจัดการให้ถูกจุดถูกขั้นตอน ส่วนคุณธรรมที่เกี่ยวกับความเมตตา การแบ่งปัน การช่วยเหลือเกื้อกูล ประสานงาน และประสานประโยชน์กัน ประกอบอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า

ในผลการศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลกลุ่ม องค์กร พื้นที่ ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต (งานวิจัยในการสนับสนุนของ สกว. ปี 2547-2548) ได้จำแนกองค์กรธุรกิจที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มเข้าข่าย - เป็นองค์กรธุรกิจที่ดำเนินกิจกรรมเข้าในคุณลักษณะใดลักษณะหนึ่งของเศรษฐกิจพอเพียง หรือมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยธรรมชาติ และอาจไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาก่อน

กลุ่มเข้าใจ - เป็นองค์กรธุรกิจที่มีการดำเนินงานสอดคล้องกับคุณลักษณะในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีความรู้ความเข้าใจในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แต่อาจมิได้ปฏิบัติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างสมบูรณ์แบบ

กลุ่มเข้าถึง - เป็นองค์กรธุรกิจที่มีการดำเนินงานสอดคล้องกับคุณลักษณะและเงื่อนไขในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างครบถ้วน มีคุณธรรมในการประกอบการและปฏิบัติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างสมบูรณ์ จนถูกหยิบยกขึ้นเป็นกรณีศึกษาอย่างชัดเจน

บทความในตอนต่อไป จะกล่าวถึงการนำเกณฑ์การจำแนกองค์กรธุรกิจที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ‘เข้าข่าย-เข้าใจ-เข้าถึง’ ข้างต้น มาพัฒนาต่อยอดเป็นตัวแบบ Sufficiency Maturity Level หรือวุฒิระดับความพอเพียง 5 ระดับ ที่สามารถใช้สำหรับประเมินเปรียบเทียบสมรรถนะ (Benchmarking) การดำเนินงานระหว่างองค์กร และสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจที่เป็นรูปธรรมได้


[กรุงเทพธุรกิจ]