Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

หุ้น ESG100 เลือกอย่างไร?


การเปิดเผยรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) จำนวน 100 บริษัท หรือเรียกว่า กลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2558 และดำเนินต่อเนื่องมาเป็นปีที่สอง ในปีนี้ ด้วยการคัดเลือกจาก 621 บริษัทจดทะเบียน (ไม่รวมหลักทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟู) ได้กลายเป็น Benchmark หนึ่งสำหรับบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในการเข้ามาอยู่ในยูนิเวอร์ส ESG100 เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นองค์กรธุรกิจวิถียั่งยืน

ข้อมูลที่ใช้สำหรับการประเมินในปี พ.ศ.2559 อ้างอิงจากเอกสารรายงานที่บริษัทเผยแพร่ไว้ต่อสาธารณะในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) รวมทั้งในรายงานประจำปี รายงานแห่งความยั่งยืน และข้อมูลผลการดำเนินงานที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัท จากแหล่งข้อมูล 6 แหล่ง รวมจำนวนกว่า 11,500 จุดข้อมูล

ในปีที่แล้ว การประเมินมุ่งไปที่การพิจารณาประเด็นด้าน ESG ของบริษัทที่มีความโดดเด่น โดยอ้างอิงจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ อาทิ ข้อมูลการพิจารณารางวัลบริษัทจดทะเบียนด้านความรับผิดชอบต่อสังคมยอดเยี่ยม และรางวัล CSRI Recognition ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) แต่ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูล ESG แบบบูรณาการ ผนวกเข้ากับข้อมูลทางการเงิน ที่เรียกว่า Integrated ESG Assessment เพื่อให้สะท้อนผลตอบแทนการลงทุนหรือตัวเลขผลประกอบการที่สัมพันธ์กับการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท ด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ การวิเคราะห์อุตสาหกรรม กลยุทธ์องค์กร และรายงานทางการเงิน

การประเมิน ESG แบบบูรณาการ

โดยในส่วนการวิเคราะห์อุตสาหกรรม เป็นการพิจารณาประเด็นด้าน ESG ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรม สำหรับในส่วนการวิเคราะห์กลยุทธ์องค์กร เป็นการพิจารณาวิธีการที่บริษัทใช้ระบุและจัดการกับโอกาสและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน ESG และในส่วนการวิเคราะห์รายงานทางการเงิน เป็นการพิจารณาประเด็นด้าน ESG ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการขององค์กร

ทำให้การประเมินในปีนี้ จึงเป็นการยกระดับจากการวิเคราะห์ข้อมูลด้าน ESG แบบเอกเทศ มาสู่การวิเคราะห์ข้อมูลการดำเนินงานด้าน ESG ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับผลประกอบการ ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนในมิติของการลงทุนที่ยั่งยืนว่า บริษัทที่มี ESG ดี จะสามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีด้วย

ส่วนเกณฑ์เบื้องต้นที่ใช้ในการคัดเลือกหลักทรัพย์ ESG100 ปี 2559 นี้ ประกอบด้วย เกณฑ์ผลการดำเนินงานของบริษัทซึ่งต้องมีผลประกอบการที่เป็นกำไรติดต่อกันสองรอบปีบัญชีล่าสุด เกณฑ์การปลอดจากการกระทำความผิดโดยที่บริษัทหรือคณะกรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัทต้องไม่ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษหรือเปรียบเทียบปรับในรอบปีประเมิน และเกณฑ์การกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ของบริษัทเป็นไปตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด เป็นต้น

เนื่องจากการพิจารณาเพื่อคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนเข้าในยูนิเวอร์ส ESG100 ได้ใช้ข้อมูล ESG ที่บริษัทเผยแพร่ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในหัวข้อความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เป็นสำคัญ รวมถึงข้อมูล ESG ที่มีการเปิดเผยหรือปรากฏต่อสาธารณะ ในรายงานประจำปี (แบบ 56-2) หรือในรายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) หรือในรายงานอื่น ตามแต่กรณี โดยไม่ใช้แบบสำรวจข้อมูลหรือแบบสอบถามใดๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนได้จัดทำข้อมูลเพื่อเปิดเผยในแบบ 56-1 หรือ 56-2 ตามรายการที่กำหนดไว้อย่างครบถ้วน และเป็นไปตามประกาศของสำนักงาน ก.ล.ต. อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง

นั่นหมายความว่า บริษัทจดทะเบียนควรให้ความสำคัญกับการดำเนินงาน CSR-in-process ภาคปฏิบัติ เพื่อให้ได้ผลการดำเนินงานที่เป็นภาคข้อมูล ESG สำหรับการเปิดเผยต่อสาธารณะตามช่องทางปกติที่กำหนด โดยไม่มีความจำเป็นต้องส่งข้อมูลใด ๆ เพิ่มเติม สำหรับใช้ในการประเมิน ESG100 แต่อย่างใด


[กรุงเทพธุรกิจ]