Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ทิศทาง CSR ปี 2560


ปี 2560 นับเป็นปีที่มีความท้าทายทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อีกปีหนึ่งท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในสถาบันหลักของสังคมไทย ทั้งสถาบันทางการเมือง สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งนอกจากปัจจัยภายในประเทศดังกล่าวแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางภูมิสังคมโลก ทั้งกระแสการแยกตัวของประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป การชูนโยบายประเทศต้องมาก่อนของสหรัฐอเมริกา การอพยพย้ายถิ่นของผู้ลี้ภัยจากตะวันออกกลาง ถือเป็นปัจจัยภายนอกประเทศ ที่ส่งผลต่อความมั่นคง ความมั่งคั่ง และความยั่งยืนของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมา เป็นแบบ Pendulum Economy คือ มีลักษณะแกว่งไปมาระหว่างขั้วนอกประเทศและขั้วในประเทศ สมัยหนึ่ง เน้นส่งออก มาตรการส่งเสริมต่างๆ ก็เทไปในทางที่ให้ความสำคัญกับตลาดนอกประเทศ เมื่อถึงจุดที่ตัวเลขส่งออกปั้นไม่ได้มากกว่านี้แล้ว ก็หวนกลับมาเน้นท้องถิ่น การอัดฉีดทรัพยากรลงสู่ชุมชน จังหวัด และภูมิภาค เป็นมาตรการชุดปัจจุบันที่หยิบฉวยมาใช้ ตุ้มน้ำหนักทางเศรษฐกิจ สมัยนี้ จึงสวิงกลับมาหาตลาดในประเทศอีกครั้งหนึ่ง โดยโจทย์ที่ท้าทาย วนเวียนอยู่ที่ นอกจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐแล้ว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะทำให้กำลังซื้อในภาคครัวเรือน (หน่วยบริโภค) เพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ และการลงทุนของภาคเอกชน (หน่วยผลิต) จะตามมาจริงหรือไม่

แต่ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตหรือหดตัว หรือจะเป็นไปตามที่คาดการณ์หรือไม่ บทบาทหนึ่งของภาคเอกชนที่ต้องดำรงอยู่ คือ การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) โดยเฉพาะความรับผิดชอบในกระบวนการธุรกิจ ที่เป็นการดูแลป้องกันและบรรเทาเยียวยาผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นและที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการประกอบการ รวมถึงการส่งมอบผลกระทบทางบวกแก่ผู้มีส่วนได้เสีย โดยเน้นที่การใช้ขีดความสามารถหลักในธุรกิจและความเชี่ยวชาญของกิจการที่มีอยู่ ทั้งนี้ เพื่อสร้างให้เกิดการยอมรับของชุมชนท้องถิ่นที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ไปจนถึงสังคมในวงกว้าง และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ในปีนี้ บทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ที่มีเข็มมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จะมีโจทย์อยู่ที่การนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ข้อ ซึ่งได้รับการรับรองโดย 193 ประเทศรวมทั้งไทย ในเวทีการประชุมสุดยอดการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2558 มาผนวกเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่ เพื่อขับเคลื่อนดำเนินงานที่เป็นปกติประจำวัน โดยแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า เกิดเป็นผลกระทบที่พึงประสงค์ต่อท้องถิ่นที่เป็นสังคมใกล้กับกิจการ ไปจนถึงผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่ในสังคมไกลออกไป

สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคม ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า 6 ทิศทาง CSR ปี 2560: Articulating 'Global Goals' to 'Local Impacts' เผยแพร่ให้แก่องค์กรธุรกิจและหน่วยงานต่างๆ สำหรับเป็นแนวทางการดำเนินงานในทางที่ตอบสนองต่อเป้าหมายโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ก่อให้เกิดเป็นผลกระทบที่คาดหวังสู่ชุมชนท้องถิ่นและสังคมโดยรวม


 
 (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ)
ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์
2 มีนาคม 2560