Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

สัญญาณ CSR ในห่วงโซ่อุปทาน


ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ที่เริ่มต้นเข้ามาในแวดวงความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจที่มีต่อสังคม หรือ CSR ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า การทำ CSR คือ การช่วยเหลือสังคม หลังจากที่ธุรกิจทำมาค้าขายหากำไรได้ ในรูปของการตอบแทนหรือคืนกำไรส่วนหนึ่งให้แก่สังคม เช่น การให้ทุนการศึกษาแก่เด็กยากไร้ การบริจาคเพื่อสาธารณกุศล การมอบสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นให้แก่ผู้ประสบภัย ซึ่งถูกต้องเพียงส่วนเดียว

เพราะหากเราตั้งคำถามใหม่ว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น กิจกรรม CSR จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อธุรกิจต้องมีกำไรก่อนเท่านั้นหรือ

ในความจริง ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะไม่ว่าธุรกิจจะมีหรือไม่มีกำไรก็ตาม ธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบในการประกอบการเพื่อแสวงหารายได้ โดยที่มิให้เกิดผลกระทบเดือดร้อนเสียหายต่อผู้ที่เกี่ยวข้องรอบข้าง ซึ่งในที่นี้ เรียกว่า ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) อันประกอบไปด้วย พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ชุมชน (รวมถึง สิ่งแวดล้อม) ที่อยู่รายรอบแหล่งดำเนินงาน เป็นต้น

การทำ CSR จึงไม่ได้จำกัดว่า จะต้องเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นแยกต่างหากจากการประกอบการ หรือเกิดภายหลังการดำเนินธุรกิจแล้ว ซึ่งเรียกกันว่า CSR-after-process ในรูปของการตอบแทนคืนสังคมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นในระหว่างการประกอบการ หรือในกระบวนการทางธุรกิจ ซึ่งเรียกกันว่า CSR-in-process ด้วย ตั้งแต่ การคัดสรรวัตถุดิบที่มีความโปร่งใสเป็นธรรมต่อคู่ค้า การผลิตและการจำหน่ายที่ไม่เอารัดเอาเปรียบลูกค้า การขายและการตลาดที่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค รวมถึงการเสียภาษีตามกฎหมาย ฯลฯ

พัฒนาการเรื่อง CSR ในปัจจุบัน ได้กำหนดพรมแดนใหม่ในการดำเนินความรับผิดชอบ ที่ไม่สามารถจำกัดอยู่เพียงขอบเขตขององค์กร (Organization) ได้อีกต่อไป อาณาเขตแห่งความรับผิดชอบได้ขยายวงไปสู่ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)

ตัวอย่างที่ปรากฏในอุตสาหกรรมประมงไทยที่กำลังเผชิญกับปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU :Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) ก่อให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงทั้งระบบ รวมถึงตัวอย่างในอุตสาหกรรมการบินที่กำลังเผชิญกับปัญหาการบินพลเรือนที่ไม่สามารถแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns : SSC) ตามข้อกำหนดขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization :ICAO) เป็นต้น

องค์กรธุรกิจในยุคนี้ จึงจำเป็นต้องยกระดับการขับเคลื่อนการดำเนินความรับผิดชอบ จากการขยับรับโจทย์ CSR จากเบื้องบน มาสู่การจับสัญญาณ CSR จากคู่ค้ารอบข้าง ว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแนวโน้มสากลและกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ของโลก

ความท้าทายของการทำ CSR นับจากนี้ต่อไป ไม่ได้มีเพียงความยั่งยืนในระดับกิจการเป็นที่หมายเท่านั้น แต่จำต้องพิจารณายกระดับการขับเคลื่อนเพื่อให้ตอบโจทย์ความยั่งยืนในระดับห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ เพื่อสร้าง ธำรงรักษา และเพิ่มคุณค่าในระยะยาว ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งมวลที่เกี่ยวข้องกับการนำผลิตภัณฑ์และบริการออกสู่ท้องตลาด

การทำ CSR เพื่อความยั่งยืนในระดับห่วงโซ่อุปทาน จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญและท้าทายยิ่ง ในอันที่จะตอบสนองต่อความต้องการของอนาคตในเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม จริยธรรม และสิ่งแวดล้อม ทำให้แน่ใจว่าการดำเนินธุรกิจเป็นไปตามกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเข้าร่วมและสนับสนุนหลักการระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ตลอดจนการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในทางที่ดีขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความคาดหวังของสังคมและผลได้ทางธุรกิจไปพร้อมกัน


[Original Link]