ความยั่งยืนใน 3 ประเด็นสำคัญ ปี 61
เริ่มต้นศักราชปี 2561 ด้วยการจับกระแสประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญ ไว้เป็นข้อมูลสำหรับภาคธุรกิจในการวางกลยุทธ์องค์กรที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการให้สอดรับกับทิศทางการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน ที่ได้จากการประมวลความเห็นของบรรดาองค์กรธุรกิจในระดับสากล
GLOBESCAN และ BSR ได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากนักวิชาชีพด้านความยั่งยืนจำนวน 272 ท่าน จาก 151 องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ทั่วโลก (ทวีปอเมริกาเหนือ ร้อยละ 52 ทวีปยุโรป ร้อยละ 29 และภูมิภาคอื่นๆ ร้อยละ 19) ในการสำรวจสถานะของธุรกิจยั่งยืน ประจำปี 2560
ผลการสำรวจที่เกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืนที่ควรให้น้ำหนักความสำคัญ ในปี 2561 สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ได้รับความสำคัญสูงสุด ประกอบด้วย ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน (ร้อยละ 73) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ร้อยละ 73) และสิทธิแรงงาน (ร้อยละ 66)
กลุ่มที่ได้รับความสำคัญรองลงมา ได้แก่ ประเด็นด้านการมีน้ำใช้และคุณภาพน้ำ (ร้อยละ 48) กรอบนโยบายสาธารณะที่ส่งเสริมความยั่งยืน (ร้อยละ 45) การบริโภคที่ยั่งยืน (ร้อยละ 44) การเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่สนองตอบต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (ร้อยละ 39) ตามลำดับ
ส่วนประเด็นที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ได้รับความสำคัญน้อยสุด คือ ประเด็นการลดปัญหาความยากจน (ร้อยละ 25)
สำหรับประเด็นความยั่งยืนอื่นๆ ที่ผู้ตอบแบบสำรวจระบุถึงเพิ่มเติม ประกอบด้วย การจ้างงานและผลกระทบจากการปรับให้เป็นดิจิทัล การเพิ่มความโปร่งใส โดยเฉพาะในสายอุปทาน (ที่เลยจาก Tier 1) การนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไปปฏิบัติ การต่อต้านทุจริต หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และการเสริมพลังสตรี เป็นต้น
ทั้งนี้ สัดส่วนของผู้ตอบแบบสำรวจ กว่าหนึ่งในสี่เป็นนักวิชาชีพด้านความยั่งยืนที่ทำงานอยู่ในหมวดธุรกิจค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภค อีกหนึ่งในสี่อยู่ในหมวดบริการทางการเงิน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และอีกหนึ่งในสี่อยู่ในหมวดธุรกิจการเกษตร อาหาร สุขภาพ และพลังงาน ส่วนที่เหลือเป็นหมวดท่องเที่ยว ขนส่ง บันเทิง และอุตสาหกรรมหนัก ฯลฯ
อนึ่ง ผลการสำรวจประเด็นความยั่งยืนที่ควรให้น้ำหนักความสำคัญ ในปี 2561 ของ GLOBESCAN และ BSR นี้ สามารถใช้เป็นข้อมูลนำเข้า ประกอบการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของประเด็นความยั่งยืนที่องค์กรจะนำไปดำเนินการ หรือนำไปเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำกลยุทธ์องค์กรที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการ
อย่างไรก็ดี องค์กรควรตรวจสอบความสมเหตุสมผล (Validate) ด้วยเครื่องมือตามหลักวิชา อาทิ การใช้หลักการสารัตถภาพ (Materiality) และหลักความครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Inclusiveness) เพื่อคัดกรองจนได้ประเด็นที่มีสาระสำคัญ และขอบเขตของประเด็นที่จะดำเนินการ ให้มีความสอดคล้องกับบริบทธุรกิจและลักษณะกิจการของตน เพื่อให้เกิดคุณค่าสูงสุดสุด ทั้งต่อองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง
ขอให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน จงประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน ในปี 2561 นี้ โดยถ้วนหน้าครับ
[Original Link]