Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

6 ทิศทาง CSR ปี”61 “ให้” มากกว่าที่สังคม “ร้องขอ”


เมื่อทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคมไม่ได้เพียงเพื่อตอบโจทย์ในแง่ของการรับผิดชอบต่อชุมชนแวดล้อมสถานประกอบการ หรือตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเท่านั้น แต่ต้องตอบโจทย์สากลของโลก

ขณะเดียวกันวิถีของการดำเนินกิจการอย่างรับผิดชอบต่อสังคมในหนึ่งธุรกิจอาจเป็นได้มากกว่าหนึ่งแนวทาง เพื่อให้ครอบคลุมกับธุรกิจที่เติบใหญ่ และขยายวงไปยังผู้เกี่ยวข้องมากที่สุด จนเรียกว่าเป็น “มณฑลแห่งความยั่งยืน” ในที่สุด

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และร่วมขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง ได้ประมวลแนวทางการสร้างความยั่งยืนของกิจการ โดยบูรณาการแนวคิดสำคัญ 7 รูปแบบ คือ การกำกับดูแลกิจการ (CG) เรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) การสร้างคุณค่าร่วม (CSV) การพัฒนาที่ยั่งยืน (SD) วิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) และธุรกิจเพื่อสังคม (SB) ซึ่งมีการเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบ

สำหรับองค์กรที่มีการดำเนินการเพื่อความยั่งยืน หรือกำลังจะเริ่มดำเนินการ “ทิศทาง CSR ประจำปี 2561” ที่นำเสนอโดย “ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ” ประธาน สถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งประกอบไปด้วย 6 ทิศทางที่สำคัญ ที่ฉายให้เห็นความเคลื่อนไหวใหม่ ๆ และแนวทางปฏิบัติที่ชัดขึ้น น่าจะเป็นทางเลือกสำหรับนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจได้เป็นอย่างดี


– ทิศทางที่ 1 new CG code จากการสร้างความเชื่อมั่น สู่การสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน ผลจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออก “หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สำหรับบริษัทจดทะเบียน” (corporate governance : CG code) ฉบับใหม่ (ปี 2560) ซึ่ง CG code ฉบับใหม่มีการปรับปรุงเพื่อให้การสร้างคุณค่ากิจการอย่างยั่งยืนแทรกเป็นเนื้อเดียวกับการประกอบกิจการ รวมถึงมีการนำหลัก apply or explain มาให้องค์กรปรับใช้ได้ตามความเหมาะสมของธุรกิจ หากใช้วิธีปฏิบัติอื่นที่ดีกว่า ควรบันทึกเหตุผลและการปฏิบัติอื่นนั้นไว้ด้วย

– ทิศทางที่ 2 first ESG code ก้าวสู่ธรรมาภิบาลการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมตลอดกระบวนการลงทุนในปี 2561 I code หรือ “หลักธรรมาภิบาลการลงทุน สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน” (investment governance code) ออกโดย ก.ล.ต. จะเพิ่มแรงผลักดันต่อกิจการในตลาดหลักทรัพย์ฯมากขึ้น

โดยผู้ลงทุนสถาบันสามารถผลักดันให้มีการปรับปรุงแก้ไข หากกิจการมีประเด็นปัญหาในเรื่องธรรมาภิบาล เพื่อให้ดำเนินการในประเด็น ESG เข้มข้นยิ่งขึ้น

– ทิศทางที่ 3 GRI first standard จากแนวทาง สู่มาตรฐาน การรายงานแห่งความยั่งยืนกลางปี 2561 “มาตรฐานการรายงานแห่งความยั่งยืน” หรือ “sustainability reporting standards” จะมีผลบังคับใช้ ทำให้องค์กรที่เคยมีการจัดทำรายงานตามฉบับ G4 ต้องปรับมาอ้างอิงตามมาตรฐาน GRI แทน

– ทิศทางที่ 4 new SDG business blueprint จากการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือ สู่การพัฒนาการนำองค์กรUN Global Compact ได้ออกเอกสาร Blueprint for Business Leadership on the SDGs เพื่อให้ภาคธุรกิจนำพิมพ์เขียวเพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน

– ทิศทางที่ 5 shared value innovation จากเสียงขานรับให้ประกอบการ สู่เสียงขานรับให้เติบใหญ่ในปีนี้ คาดหมายว่า กิจการที่ต้องการฉันทานุมัติจากชุมชนเพื่อให้ธุรกิจเติบโต จะคิดค้นนวัตกรรมคุณค่าร่วม เพื่อมอบประโยชน์แก่ธุรกิจและสังคมจากการขยายกิจการเพิ่มมากขึ้น

– ทิศทางที่ 6 corporate digizenship จากภูมิทัศน์ สู่ดิจิทัศน์ขอบเขตเรื่อง CSR จากการคำนึงถึงภูมิทัศน์ (landscape) หรือพื้นที่ความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องครอบคลุม ดิจิทัศน์ (digiscape) หรืออาณาเขตที่เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมออนไลน์มากขึ้น อาทิ การมีนโยบาย/มาตรการป้องกัน และเยียวยาความเสียหายทางดิจิทัล

ขณะที่เวทีเสวนาเรื่อง “มณฑลแห่งความยั่งยืน” “The Sphere of Sustainability” โดย “วรณัฐ เพียรธรรม” ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ และ “ฌานสิทธิ์ ยอดพฤติการณ์” วิทยากร สถาบันไทยพัฒน์ ได้เน้นย้ำถึงแนวทางที่จะนำไปสู่มณฑลแห่งความยั่งยืน โดย “วรณัฐ” เริ่มต้นโดยการขยายความ ถึงคำว่า มณฑลแห่งความยั่งยืน (the sphere of sustainability) ว่า จะเกิดได้เมื่อองค์กรดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งความยั่งยืนครอบคลุมกิจการของตน ผลกระทบที่เกิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

ซึ่งการไปสู่จุดหมายดังกล่าวมีหลายแนวทาง และแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้ในอีก 10 ปีข้างหน้า

“แนวทางการสร้างความยั่งยืนของกิจการ จะไม่หนีไปไหน โดยมีแนวคิดสำคัญ 7 แนวทาง คือ การกำกับดูแลกิจการ (CG) เรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) การสร้างคุณค่าร่วม (CSV) การพัฒนาที่ยั่งยืน (SD) วิสาหกิจเพื่อสังคม (SE) และธุรกิจเพื่อสังคม (SB) แต่ละแนวทางไม่สามารถใช้แทนกัน แต่องค์กรต้องค้นหาวิธีการที่เหมาะสม แล้วดำเนินการอย่างเป็นองค์รวม เพื่อให้เกิดสถานะที่ยั่งยืน”

เช่น จากเดิมที่บริษัทเคยทำ CSR เป็นหลัก เพราะเน้นความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่เพื่อให้มีความน่าสนใจต่อนักลงทุน ก็ต้องเพิ่ม ESG เข้ามา ดังนั้นองค์กรหนึ่ง สามารถทำได้มากกว่าหนึ่งแนวทาง และไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบองค์กร”

สำหรับธุรกิจที่กำลังเริ่มต้น ว่าควรจะไปทิศทางไหน “วรณัฐ” แนะว่ามี 3 หลักเกณฑ์ คือ

1.define your sphere ดูว่าองค์กรทำอะไร และดูใครคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

2.recognize norm/expectation ดูมาตรฐาน/ความคาดหวังของสังคม หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในขณะนั้นอยู่เสมอ

3.perform organizational roles ประเมินการปฏิบัติ เพื่อจะได้เห็นช่องว่างชัดเจน แล้วนำมาสื่อสารกับคนในองค์กรเพื่อให้เกิดแนวทางเดียวกัน ส่งผลให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินการ

สุดท้ายได้เน้นย้ำว่า ธุรกิจไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก หรือบริษัทจดทะเบียน อย่างน้อยจะต้องทำ CSR เพราะเมื่อมีการทำธุรกิจย่อมมีผู้ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะต่อคน สิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคมก็เพื่อให้ธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้ เพราะธุรกิจไม่สามารถเติบโตได้ ภายใต้สังคมที่ล่มสลายนั่นเอง

ด้าน “ฌานสิทธิ์” ได้ยกกรณีตัวอย่าง ชี้ให้เห็นถึงความตระหนักของสังคม รวมทั้งผู้ลงทุนต่อความรับผิดชอบต่อสังคม ธรรมาภิบาลของกิจการ ซึ่งสอดคล้องกับทิศทาง CSR 2561

ตัวอย่างแรก คือ กรณีของผู้บริหารของ Black Rock ลอเรนซ์ ดี. ฟิงก์ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารด้านการลงทุน ของบริษัทด้านการลงทุนยักษ์ใหญ่ของอเมริกา ได้ร่อนจดหมายถึงผู้บริหารองค์กรต่าง ๆ ว่าหากต้องการการสนับสนุนด้านการลงทุนจาก Black Rock นอกจากแสดงข้อมูลทางการเงินแล้ว ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย สะท้อนการกดดัน ESG จากนักลงทุนอย่างชัดเจน

กรณีที่สอง คือ Kokoboard ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเล็กที่ผลิตแผ่นบอร์ด ที่รับซื้อเศษแกลบ ขี้เลื่อยจากชาวนา โรงสีต่าง ๆ สร้างรายได้แก่เกษตรกร สามารถกำจัดขยะ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เชื่อมโยงกับชุมชนในพื้นที่ เกิดความยั่งยืน ซึ่งตรงกับ SDGs ในข้อ 1 (ขจัดความยากจน), 15 (การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก) และ 17 (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) ตามลำดับ ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นการพิสูจน์ว่า กิจการขนาดเล็กก็สามารถดำเนินการด้านความยั่งยืนได้

ทั้งสองกรณีที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่าง ก็เพื่อให้เห็นภาพบรรยากาศสังคมทั้งใน และต่างประเทศ ซึ่งไหลตรงไปสู่แนวทางการสร้างความยั่งยืน และแนวทางเหล่านี้ มีรูปแบบที่หลากหลาย สามารถปรับใช้กับทุกขนาดธุรกิจ ให้ทุกองค์กรได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมนั่นเอง


[Original Link]